วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี

ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี (หรือจังหวัดอื่นที่นิสิตสนใจ) ตอบคำถามเรื่องความเป็น "สาธารณะ" ในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไร

12 ความคิดเห็น:

ปรัญญู กล่าวว่า...

ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี การเป็นสาธารณะในการให้บริการและการมีส่วนร่วม
การจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยกรณีนี้ขอยกตัวอย่าง รูปแบบของผังเมืองรวมของเมืองเพชรบุรี ลักษณะของการเป็นสาธารณะมีพื้นที่ราชการที่ให้บริการครอบคลุมภายในพื้นที่และเขตอำเภอใกล้เคียงกัน โดยรูปแบบสาธารณะของรัฐจะเป็นสาธารณูปการที่เกิดขึ้น เช่น สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ซึ่งการกำหนดพื้นที่นี้เป็นการกำหนดจากพื้นที่เดิมโดยให้สีเดิม แต่จากการขยายตัวของเมืองพื้นที่การให้บริการอาจจะไม่ครอบคลุมได้ทั้งหมด ประชาชนจึงมีบทบาทในการแสดงความมีส่วนร่วมแสดงความเป็นเจ้าของของพื้นที่สาธารณะและการให้บริการสาธารณะ ฉะนั้นการวางผังจึงเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด การวางผังจึงเป็นเรื่องของสาธารณะและการมีส่วนร่วมที่ทั้งสองอย่างจะต้องมุ่งประเด็นเข้าหากัน การมีส่วนร่วมไม่ได้หมายถึงหมายถึงคำว่าทุกคน แต่การเป็นสาธารณะหมายถึงทุกคนแล้วควรจะทำอย่างไรให้ให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเสนอแนะและได้ประโยชน์ร่วมกันทุกๆฝ่าย ฉะนั้นการมีส่วนร่วมจึงจำเป็นต้องเลือกตัวแทนเพื่อนำมาเสนอรูปแบบของการเป็นสาธารณะที่แท้จริง เปรียบเสมือนการเมืองระดับเล็กที่ต้องการตัวแทนที่เข้าใจความต้องการของกลุ่มคนหลายๆกลุ่มร่วมมือกันวางแผน วางผัง ปรับปรุงผังเมืองเพชรบุรีให้ตอบสนองอย่างทั่วถึงให้เกิดการเสียประโยชน์น้อยที่สุดและคนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์กันมากที่สุดซึ่งถือเป็นสาธารณะในการบริการอย่างแท้จริง
นโยบายสาธารณะมีผลต่อการพัฒนาเมืองและการวางผังเมือง การกำหนดนโยบายเป็นการแสดงออกถึงสิ่งที่อยากจะให้เป็น เพื่อกำหนดทิศทางและดำเนินการต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดนโยบายบ่งบอกถึงรูปแบบของเมือง หากกำหนดนโยบายโดยที่ไม่ได้ผ่านความต้องการของการเป็นสาธารณะจะทำให้รูปแบบของเมืองไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ผลกระทบที่ตามมาย่อมเกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ อย่างในจังหวัดเพชรบุรีที่มีการกำหนดสีของผังเมืองและการใช้ประโยชน์จริงที่แตกต่าง ตัวอย่างเช่น พื้นที่อนุรักษ์ก็จะมีปะปนกับพื้นที่พาณิชยกรรมซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะมีความขัดแย้งกันเป็นอย่างมาก การกำหนดนโยบายอุนรักษ์การท่องเที่ยวจึงจะต้องสำรวจความต้องการของประชาชนว่ามีความต้องการในทิศทางใดบ้างเพื่อความเหมาะสมและเป้นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่มากที่สุด

ปรัญญู เฟื่องเพียร 5074128325

prasong กล่าวว่า...

พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ รวมทั้งสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการวางแผนได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิของคนที่อยู่ภายในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลกระทบกับการพัฒนาต่างๆ โดยตรงที่สุด ความเป็นสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรให้เกิดขึ้นในแต่ละเมือง ทั้งในเชิงพื้นที่และความคิดที่สามารถแสดงและใช้ได้

สำหรับผังเมืองรวมที่จะกล่าวถึง คือ ผังเมืองรวมเมืองชะอำ ซึ่งภาครัฐที่มีหน้าที่ในจัดทำผังและการดูแลให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามผังเมืองรวม คือ เทศบาลเมืองชะอำ ซึ่งผู้บริหารเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชะอำ เท่ากับว่าการทำงานของเทศบาลนี้ เป็นความชอบธรรมในการเข้ามาบริหารโดยความเห็นชอบของประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นสาธารณะ ซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะในระดับหนึ่ง ซึ่งการเข้ามาทำงานย่อมผ่านความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ ที่มีความเห็นด้วยกับนโยบายของกรรมการเทศบาล ดังนั้นในการวางผังซึ่งจัดทำโดยเทศบาลย่อมเป็นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยตัวแทนอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน การผ่านผังสำหรับมาบังคับใช้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบของประชาชนด้วย ที่จะต้องติดร่างผังแสดงให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ออกมาคัดค้านหรือปรับผังให้สอดคล้องกับการพัฒนา

ส่วนในเชิงพื้นที่ภายในพื้นที่จะมีพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ได้แก่ ที่ดินที่เป็นสถานที่ราชการ ประกอบด้วย สำนักงานต่างๆ โรงเรียน อีกทั้งสวนสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินของเทศบาล ซึ่งมีการใช้ที่ดินตามบริเวณนั้นๆ อยู่แล้ว ซึ่งตามผังเมืองรวมเมืองชะอำก็สะท้อนภาพลักษณะการใช้ที่ดินการใช้ที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งยังมิได้จัดหาเพิ่มเติมสำหรับความต้องการในอนาคต อีกทั้งยังมีพื้นที่ของเทศบาลที่อยู่ทางตอนเหนือของผัง ซึ่งกำลังมีแผนการพัฒนา ที่ยังมีตัวเลือกสำหรับการเป็นพื้นที่สำหรับรองรับโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต หรือเป็นพื้นที่สำหรับสร้างรายได้ของเทศบาล ซึ่งควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของทุกคน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ริมหาด ที่ทุกคนสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งมาจากในและนอกพื้นที่ ซึ่งเทศบาลก็มีการเข้ามาจัดการความเรียบร้อย

ความเป็นสาธารณะเป็นสิ่งที่ควรจะให้เกิดกับผังเมือง ทั้งในเชิงความคิดและพื้นที่ ความเป็นสาธารณะเกิดขึ้นในผังเมืองใด ย่อมสะท้อนถึงการมีส่วนร่วม ตามคันรองประชาธิปไตย และคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ ด้วย

ประสงค์ จารุรัตนพงศ์
5074127725

Chayanee กล่าวว่า...

ผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่กับความเป็น "สาธารณะ" ในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

คำว่า “สาธารณะ” นั้นหมายถึงส่วนรวม(Public) ซึ่งมักจะถูกเปรียบเทียบกับคำว่าส่วนตัว(Private) ซึ่งในความหมายของความเป็นสาธารณะก็คือการที่ทุกคนมีส่วนร่วม มีสิทธิ มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ หรือ เสียผลประโยชน์ในเรื่องนั้นๆก็ตาม ซึ่งความเป็นสาธารณะนั้นมักจะควบคู่มากับการให้บริการ หรือ สิ่งที่หน่วยงานของรัฐหรือภาครัฐ จัดทำ จัดสร้างขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่รัฐควรพึงกระทำ เนื่องจากเป็นผลประโยชน์โดยส่วนรวมของประชาชน

การวางผังเมืองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนโดยส่วนรวมที่เข้าไปดำเนินการ ซึ่งในกระบวนการในการจัดทำผังนั้นก็สะท้อนความเป็นสาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมีขัอกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder เข้ามาร่วมในการจัดทำผัง ซึ่งโดยกระบวนการแล้วคงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผังที่ออกมานั้นสามารถนำไปใช้โดยที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นได้รับประโยชน์จริงๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วปรากฎว่าผังเมืองส่วนใหญ่ที่ได้จัดทำขึ้นนั้นไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นสาธารณะ หรือ ตอบสนองความต้องการที่เป็นสาธารณะของประชาชนในพื้นที่นั้นจริงๆ เห็นได้จากการออกมาเรียกร้องหรือคัดค้านผังเมืองที่ประกาศออกมา

ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ถือว่าเป็นผังเมืองรวมซึ่งกำลังเป็นปัญหาและก่อให้เกิดขอถกเถียงมากมาย เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนได้ออกมาเรียกร้องและคัดค้านผังเมืองรวมฉบับใหม่ซึ่งจะประกาศภายในปี 2551 นี้ เนื่องจากเห็นว่าผังเมืองรวมฉบับนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองเชียงใหม่ในอนาคตที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบันรวมถึงความต้องการของประชาชนและ หน่วยธุรกิจต่างๆ จากกรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ฉบับนี้ไม่ตอบสนองความเป็นสาธารณะและการมีส่วนร่วมที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ การใช้พื้นที่ที่กำหนดขึ้นมานั้นเป็นการกำหนดขึ้นโดยผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนายทุนอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจบางประเภท และถึงแม้ว่าในผังเมืองรวมจะมีการกำหนดพื้นที่ที่เป็นสาธารณะเช่น สถาบันราชการ สถานศึกษา สถาบันศาสนา พื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ พื้นที่อนุรักษ์ แต่ประชาชนในพื้นที่กลับไม่รู้สึกว่าผังนี้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนจริงๆ แต่กลับรู้สึกว่าผังดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น และ กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งต่างๆตามมา

ดังนั้นในการวางผังเมืองจึงควรคำนึงถึงความเป็นสาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังทั้งในเชิงความคิดและในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงข้อกำหนดที่ตั้งขึ้นไว้เพื่อให้กระบวนการนั้นออกมาดูดี แต่กลับไม่ได้นำไปปฏิบัติจริง ซึ่งผลสุดท้ายจะสะท้อนออกมาในผังเมืองรวมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆกับการพัฒนาและประชาชนในพื้นที่

ชญาณี จริงจิตร 5074111625

S.sittichok กล่าวว่า...

ความเป็น "สาธารณะ" ในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นการผังเมืองรวมเมืองเพชรบุรี

ความเป็น สาธารณะในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน หากมองในมุมของหน่วยงานราชการที่มีต่อประชาชนในประเด็นของการวางผังเมืองรวมต่างๆ ซึ่งการวางผังเมืองนั้นมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีให้มีประสิทธิภาพเกิดผลประโยชน์ต่อเมืองและประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น เมืองเพชรบุรีก็เช่นกัน มีการวางผังเมืองรวมเพื่อดูแล ควบคุม รักษาสิ่งต่างๆให้เกิดความสมดุล รวมทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆที่มีอยู่มากมายในตัวเมืองเพชรบุรี ซึ่งได้มีการวางผังเมืองเพื่อรักษาและปกป้องสิ่งเหล่านี้ไว้โดยมีการออกข้อกำหนดต่างๆออกมาควบคุม ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้ว ก็ถือได้ว่าผังเมืองรวมที่นี่เป็นประโยชน์สาธารณะต่อประเทศเพราะได้เก็บรักษาสิ่งที่มีคุณค่าไว้ให้อยู่คู่บ้านเมือง

หากมองอีกมุมหนึ่ง จากมุมมองของคนในพื้นที่ที่ต้องอาศัยพื้นที่ในเมืองเพชรบุรีเองในการประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าการผังเมืองของบ้านเรานั้นมีกระบวนการวางแผนวางผังจากภาครัฐสู่ท้องถิ่น (Top to Down) ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่แรกเริ่ม ประชาชนไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางรูปแบบของการพัฒนาพื้นของตัวเองได้ หน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดบทบาทความเป็นประโยชน์สาธารณะให้เอง จะมีส่วนร่วมก็ตอนที่มีการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเมื่อผังแนวคิดต่างๆออกมาเกือบเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว

เมืองเพชรบุรีเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งสะสมศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าแห่งหนึ่งของไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆให้เข้ามา ซึ่งสามารถส่งเสริมพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นจุดขายได้ แต่การวางผังเมืองที่มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อจะอนุรักษ์ เก็บรักษา เพียงอย่างเดียว มาจำกัดสิทธิ์ทางพื้นที่ในด้านต่างๆ ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้เลย ซึ่งถ้าหากคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการคิด ในการวางผังเมือง ภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนให้การวางวางผังถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการกำหนดกฎเกณฑ์ ต่างๆร่วมกัน ก็จะทำให้ผังเมืองที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนเอง และยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆได้เช่นกัน
...................................
สิทธิโชค สุระตโก
5074157525

pattamaporn.w กล่าวว่า...

ความเป็น "สาธารณะ" ในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในผังเมืองรวมเมืองชะอำ
การให้บริการสาธารณะของภาครัฐนั้นจะมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใดผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด คือ ประชาชนผู้รับบริการ ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ เพื่อให้บริการดังกล่าวมีคุณภาพตรงตามความต้องการของประชาชนและสามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างกระบวนการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จากการจัดทำผังเมืองรวมเมืองชะอำจะเห็นได้ว่าการจัดทำผังเมืองรวมนั้นมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านทางตัวแทนของชุมชนคือ กรรมการของเทศบาล รวมไปถึงการติดร่างผังฯ ให้ประชาชนร่วมพิจารณาในการนำผังมาบังคับใช้ ก็ถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอีกทางหนึ่งของประชาชนในพื้นที่ในการจัดทำผังเมืองรวมเมืองชะอำนี้
นอกจากนี้ในด้านพื้นที่สาธารณะในผังเมืองรวม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ทุกคน อันได้แก่พื้นที่สถาบันราชการ พื้นที่สาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ในผังเมืองรวมนี้ เช่น สถาบันราชการต่างๆ ทั้ง ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงเรียน โรงพยาบาล และสวนสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นที่ดินของเทศบาล ซึ่งการกำหนดสีภายในผังเมืองรวมได้กำหนดตามพื้นที่ที่มีอยู่จริง โดยยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต ทั้งนี้จึงควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการของการตัดสินใจ และการกำหนดทิศทางของผังในพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เพื่อผู้ที่กำหนดนโยบายจะได้สนองตอบต่อความต้องการได้ตรงประเด็น เพื่อให้การจัดบริการสาธารณะมีคุณภาพ และสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มในเมืองอย่างแท้จริง เช่นการพัฒนาพื้นที่ริมหาดชะอำ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนในเมืองและนักท่องเที่ยวมีสิทธิในการเข้าไปใช้พื้นที่ ควรจะให้มีการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนา เข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจและพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่นั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกคน

ปัทมพร วงศ์วิริยะ 507 41290 25

vittawat กล่าวว่า...

จากผังเมืองรวมอุบลราชธานี-วารินชำราบ ก็จะพบว่า ในส่วนตัวของผังเมืองนั้นก็มีส่วนที่เป็นพื้นที่ public จากสภาพพื้นที่เดิม ก็คือเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ อีกทั้งความเป็นสาธารณะในการแสดงออกในพื้นที่ที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เช่นพื้นที่ที่เป็นของหน่วยงานราชการ (จากกรณีหน่วยต่อต้านพันธมิตรไปปราศรัยที่สนามข้างหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี) โดยความเป็นสาธารณะจากการกำหนดพื้นที่นั้น ก็เป็นลักษณะของการให้บริการและการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็จะพบว่า ในบริเวณดังกล่าว จะมีศาลาประชาคม ซึ่งเป็นที่เสวนาของคนในชุมชน รวมไปถึงการใช้พื้นที่ดังกล่าว ในการจัดกิจกรรมในสังคมด้านอื่นๆ ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการกั้นถนนที่เชื่อมกันระหว่างพื้นที่สาธารณะสองที่นี้ ให้กลายเป็นพื้นที่เชื่อมติดกัน เพื่อให้ประชาชนได้มาใช้พื้นที่นี้มากขึ้น แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน การกำหนดพื้นที่ของทางหน่วยงานราชการก็เป็นเพียงการกำหนดพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ไม่ได้ทำเพิ่มอะไรขึ้นมาใหม่ หรือว่าสร้างพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะพื้นที่สวนสาธารณะอีกส่วนหนึ่ง ก็กลับกลายเป็นการเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ริมน้ำ และเป็นที่ที่ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ ก็กลับกลายเป็นพื้นที่เอกชนเข้ามาครอบครอง โดยประชาชนที่เคยได้รับประโยชน์ก็ต้องสูญเสียประโยชน์ไป ฉะนั้นในการที่เราจะวางผังเมืองหรือผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เราก็ควรที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะการที่ประชาจะเข้ามามีส่วนร่วมก็จะช่วยให้การแสดงออก รวมถึงผลที่ได้ออกมามีประโยชน์มากกว่าที่หน่วยงานคิดเอง จัดทำเอง อย่างที่เป็นอยุ่
วิทวัส กิ่งสุวรรณ
การวางผังเมือง 507 41517 25

saochao กล่าวว่า...

ความเป็น "สาธารณะ" ในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในผังเมืองรวมเมืองเพชรบุรี

การบริการสาธารณะ หมายถึง กิจการที่อยู่ในการดูแล หรือในความควบคุมของฝ่ายปกครอง ที่จัดทำเพื่อสนองความต้องการของประชาชน จุดมุ่งหมายของการบริการสาธารณะ คือการสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งความต้องการของประชาชนนั้น แบ่งได้เป็น ความต้องการด้านความปลอดภัย และความต้องการด้านความสะดวกสะบาย โดยสิ่งสำคัญของบริการด้านสาธารณะเหล่านี้ คือ จะต้องให้ความเสมอภาคในการบริการแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า จุดมุ่งหมายคือการสนองความต้องการของประชาชน ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการสร้างประสิทธิภาพให้แก่บริการสาธารณะ เพราะการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน จะทำให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงและแก้ปัญหาได้ตรงจุด

เมื่อมาพิจารณาพื้นที่สาธารณะในผังเมืองรวมของเพชรบุรี เราให้นิยามของพื้นทีสาธารณะว่า เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ รวมทั้งสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการวางแผนได้ด้วยตนเอง ซึ่งพื้นที่สาธารณะในผังเมืองรวมนั้น ได้แก่ ที่ดินที่เป็นสถานที่ราชการ ประกอบด้วย สำนักงานต่างๆ โรงเรียน สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาลและสวนสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินของเทศบาล การกำหนดสีในผังเมืองรวมปัจจุบันก็เป็นไปตามพื้นที่ที่มีอยู่จริง ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการรองรับที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการของการตัดสินใจ และการกำหนดทิศทางของผังในพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เพื่อจะได้สนองตอบต่อความต้องการได้ตรงประเด็น เพื่อให้การจัดบริการสาธารณะมีคุณภาพ และสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มในเมืองอย่างแท้จริง

เสาร์เช้า ช้างกลาง 507 41655 25

uthai กล่าวว่า...

คำว่า สาธารณะ (Public) เป็นเรื่องของส่วนรวมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันมีสิทธิที่จะใช้และใส่ใจบำรุงรักษาร่วมกัน ซึ่งเป็นของคนทั่วไป ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ เช่น ที่ดินสาธารณะ ถนนสาธารณะ ของสาธารณะ สวนสาธารณะ ภูเขา เกาะ แม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นของสาธารณะใครจะจับจองไม่ได้ รวมไปถึงสิทธิในการรับบริการสาธารณะและสวัสดิการจากภาครัฐ ตลอดจนการได้เข้าร่วมแสดง ความคิดเห็นของประชาชนในกระบวนการของภาครัฐ ปกติในการวางแผนพัฒนาจำเป็นต้องมีการพิจารณากรอบนโยบายสาธารณะของรัฐเข้าไปรวมกับแผนพัฒนาโดยให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนา ตามที่ท้องถิ่นนั้นต้องการจะได้หรือต้องการจะให้เป็น เช่น กรณีกรมทางหลวงมีแผนก่อสร้างและพัฒนาถนนมอเตอร์เวย์ จำนวน 5 เส้นทาง ตามแผนการพัฒนาโครงการระหว่างปี 2550-2554 โดยมีเส้นทางที่เกี่ยวข้องหนึ่งเส้นทางในพื้นที่ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีคือเส้นทางนครปฐม-สมุทรสาคร-ชะอำ ดังนั้นประชาชนจึงหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินของภาครัฐไม่ได้ ซึ่งก็จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดขึ้น เช่นที่ดินบริเวณริมถนนที่เหลือของผู้ถูกเวนคืนไม่สามารถเข้าถึงถนนได้(ทางปิด)ก็คือไม่เกิดประโยชน์ต่อเจ้าของที่ดิน รวมถึงการเก็บผลประโยชน์(ค่าผ่านทาง)ของภาครัฐที่จะตามมาหลังเปิดให้บริการดังตัวอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่ก็พบว่าผู้ใช้บริการถนนสาธารณะที่ไม่ได้เป็นผู้เสียประโยชน์เรื่องเวนที่ดินก็มีจำนวนมาก ดังนั้นประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนน่าจะมีบทบาทสำคัญที่จะสามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และเป็นการลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อีกกรณีคือในพื้นที่ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีมีเขื่อนและแม่น้ำลำคลองที่สำคัญอยู่หลายสายที่ใช้ในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐโดยทุกภาคส่วนต่างก็จะดึงน้ำจากแม่น้ำลำคลองมาใช้ในกิจกรรมของตนเอง ซึ่งแม่น้ำลำคลองเป็นของสาธารณะต่างก็มีสิทธิที่จะใช้สอยจึงทำให้ในบางฤดูการน้ำไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนขึ้น ด้วยความเป็นสาธารณะที่ภาครัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงต้องเข้ามาบริหารจัดการเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ใช้บริการที่เพียงพอและเท่าเทียมกัน ดังนั้นประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญ โดยจะต้องเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมของโครงการนั้นเพื่อหาแนวทางหรือมาตรการออกมาแก้ไขเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและภาคส่วนทีเกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับฐานเศรษฐกิจของเมืองต่อไป
ผู้ส่ง : นายอุทัย ชาติเผือก รหัส 5074171225

onaroon กล่าวว่า...

ในการวางผังเมืองรวมนั้นตามหลักการแล้วไม่ว่าที่ใดในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายก็เพื่อเป็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้สอดคล้องกับกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในพื้นที่และเมืองนั้น ซึ่งในการวางผังเมืองนั้นก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำว่าสาธารณะ โดยปกติแล้วคำว่าสาธารณะนั้นก็หมายถึงว่าการที่ทุกคนมีส่วนร่วม มีส่วนเกี่ยวข้อง มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากคำว่าสาธารณะนั้น ซึ่งก็คือการได้รับบริการจากสินค้าสาธารณะที่รัฐเป็นผู้จัดหามาบริการให้แก่ประชาชนตามหน้าที่ที่รัฐควรปฏิบัติ
การวางผังเมืองรวมเมืองขอนแก่นก็เช่นเดียวกัน จำเป็นจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำเนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการจัดทำการวางผังเมือง ซึ่งสิ่งที่ผังเมืองจังหวัดขอนแก่น ทำเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นก็คือ ได้มีการประกาศให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ครอบครองที่ดิน หรืออาคารที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ที่จะทำการวางผังเมืองรวม ไปตรวจดูแผนที่แสดงเขตท้องที่ที่จะทำการวางและจัดทำผังเมืองรวม แผนผังแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมไปถึงการขอเชิญให้เข้าร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นความต้องการในข้อมูลต่างๆในการวางผังเมืองรวม ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นล้วนเป็นผลประโยชน์ที่ประชาชนควรจะรักษาไว้ เพราะการที่จะได้รับบริการสาธารณะจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการ ได้อย่างทั่วถึงนั้น ประชาชนควรที่ต้องแสดงความมีตัวตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะนั้นตามความต้องการที่แท้จริง
ซึ่งการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางผังเมืองรวมนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก การพัฒนาของพื้นที่จะเป็นได้ด้วยดีนั้นก็ควรจะเกิดจากการร่วมมือของคนในพื้นที่ การร่วมแสดงความคิดเห็นและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางผังเมืองเพราะจะทำให้การกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน

อรอรุณ สิทธิ 5074167825

wanchai กล่าวว่า...

ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีกับความเป็น "สาธารณะ" ในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

สาธารณะในความหมายนี้หมายถึงการที่ทุกคนมีสิทธิในความเป็นเจ้าของ เป็นของส่วนกลางหรือส่วนรวม ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะจากภาครัฐ การบริการสาธารณะเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องมีการจัดให้แก่ประชาชน โดยผ่านนโยบายสาธารณะเพื่อแบ่งสรรหรือแจกแจงคุณค่าให้แก่ประชาชนในสังคม การให้บริการสาธารณะในการวางผังเมืองจึงหมายถึงการออกแบบการใช้พื้นที่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ

เมื่อมองผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีหรือแม้แต่ผังเมืองรวมจังหวัดไหนก็ตามในประเทศไทยแล้ว พบว่า ไม่สอดคล้องหรือมีความเป็นสาธารณะแต่อย่างใด ในเมื่อในการจัดทำผังเมืองรวมนั้นไม่ปรากฏกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเพียงการติดประกาศให้รับทราบหรือการสอบถามความคิดเห็นเบื้องต้นจากประชาชน แต่ไม่ได้มีการให้ประชาชนร่วมกำหนดแผนหรือแนวทางในการที่รัฐจะนำผังเมืองรวมนั้นมาบังคับให้ประชาชนในพื้นที่ใช้และยอมรับมัน การเขียนแผนผังสีทับไปบนพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอยู่แล้วไม่ได้เป็นการตอบสนองหรือเป็นแผนที่ดีพอหากปราศจากการร่วมคิดจากภาคประชาชน

ดังนั้นผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีกับความเป็นสาธารณะคงไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง หากเป็นเพียงแต่การขีด เขียน วาดผังจากบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอำนาจในการกำหนดผังขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ แต่ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีจะมีความเป็น “สาธารณะ” ในการให้บริการประชาชนทุกภาคส่วนได้ ต้องเป็นผังเมืองที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นผังที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนด การตัดสินใจเพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นสามารถตอบสนองความต้องการการใช้พื้นที่ การทำกิจกรรมต่างๆ การดึงประชาชนเข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดทำผังเมืองรวมเป็นสิ่งที่รัฐควรหันกลับมามองและต้องทำ เมื่อนั้นคำว่า “สาธารณะ” กับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีก็จะเป็นผังเมืองสาธารณะที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

วันชัย ศักดิ์พงศธร รหัส 507 41500 25

Sorasak C. กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Sorasak C. กล่าวว่า...

ผังเมืองรวมจังหวัดตรัง ตอบคำถามเรื่องความเป็น "สาธารณะ" ในการให้บริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไร

เทศบาลนครตรังได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาเมือง คือ “คุณภาพชีวิตที่ดีมีระเบียบวินัยและคุณธรรม ประชาชนมีส่วนร่วม พึ่งตนเองได้ สังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมดี มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการครบถ้วน” ซึ่งเน้นถึงการมีส่วนร่วมเป็นหลักสำคัญ โดยมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย แม้ในแผนพัฒนาเทศบาลเมืองตรังจะมียุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชน คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนส่งผลให้การพัฒนาต่าง ๆ ของเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของประชาชนซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ในความเป็นจริง แผนการพัฒนาเมืองตรังซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาภาคใต้นั้น ได้มีแนวคิดสร้างเขตอุตสาหกรรมขึ้นมาในจังหวัด ซึ่งพื้นที่ที่คาดว่าจะสร้างนั้นปัจจุบันเป็นพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมของชาวบ้าน

สืบเนื่องจากข้อมูลการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า จ.ตรัง มีศักยภาพในการรองรับการขยายตัวจากการลงทุนในส่วนภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ มีการ ขยายตัวของโครงการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งมีมูลค่าการนำสินค้าเข้าและส่งออก อาทิ ถ่านหิน ดีบุก เครื่องจักร ปูนซีเมนต์ ยิบซั่ม อาหารทะเลแปรรูป ไม้ยางพารา ขยายตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เล็งเห็นว่าการกำหนดพื้นที่สำหรับเป็นเขตอุตสาหกรรม จ.ตรัง เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสินค้า และการกำหนดพื้นที่สำหรับบริการลานเก็บ ขนถ่าย และบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ในเขต/นิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ประเภทอุตสาหกรรมกฎหมายและผังเมืองรวม และเร่งรัดการจัดทำกฎหมายผังเมืองรวมให้ครอบคลุมภายใน 3 ปี แม้ว่าเป้าหมายของโครงการนิคมอุตสาหกรรม จ. ตรัง จะระบุไว้ว่า เป็นไปเพื่อรองรับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการประมง แต่ที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ ยังไม่เคยมีการรับประกันคุณภาพชีวิต และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนเลย กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่จึงไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากเกรงว่าโครงการดังกล่าวจะนำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาสู่ชุมชนดังเช่นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ประสบมาแล้ว

จุดยืนของชาวบ้านที่ไม่เอานิคมอุตสาหกรรมนั้นก็เพราะต้องการรักษาวัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นเอาไว้ และแม้ว่าทางจังหวัดจะได้ชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังอยู่ขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาทางจังหวัดเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้โครงการน้อยมาก เพราะผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้ามีส่วนร่วมในเวทีต่างๆ ที่ทางจังหวัดได้จัดขึ้นนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นผู้นำ ซึ่งไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของชาวบ้านอย่างแท้จริง นอกจากนี้ข้อมูลผลการศึกษาบางอย่างมีความบิดเบือนจากข้อเท็จจริงและยังขาดความสมบูรณ์ครบถ้วน เช่น พื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่สามารถทำการเกษตรหรือเพาะปลูกได้ แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวได้มีประชาชนเข้าไปพัฒนาปลูกพืชส่วนใหญ่คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชน เกือบเต็มพื้นที่ สิ่งที่พวกเขาเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันคือ ชุมชนต้องการการพัฒนาที่พวกเขามีสิทธิในการร่วมกำหนดชะตากรรมที่ความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิร่วมเลือกหรือกำหนดรูปแบบความกินดีอยู่ดีในแบบชุมชนเอง

สรศักดิ์ ชิตชลธาร
5074156925