วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

"อ่าน" ผังเมืองรวม

ให้นิสิต "อ่าน" ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี (หรือจังหวัดอื่นที่นิสิตสนใจ) โดยพิจารณาถึงผังสี/แผนที่ว่าส่วนใดที่ระบายสีทับไปบนพื้นที่จริงที่เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว (เช่นระบายว่าเป็นย่านอยู่อาศัยหนาแน่น ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น) และส่วนใดที่ไม่มีอยู่ในพื้นที่จริงแต่มีการระบายสีเพื่อกำหนดขึ้นใหม่ แล้วอภิปรายว่ามีช่องว่างอะไรระหว่างการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตกับพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว

10 ความคิดเห็น:

ปรัญญู กล่าวว่า...

ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี จุดแตกต่างในผังกับสิ่งที่เป็นจริง
จุดแตกต่างของผังเมืองกับพื้นที่จริงยังคงมีลักษณะการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาไม่เกิดการซ้อนทับของกิจกรรม ตัวอย่างเช่น พื้นที่บริเวณกลางเมืองของผังเมืองรวมของเมืองเพชรบุรีกำหนดให้เป็นสีแดงซึ่งเป็นเขตพาณิชยกรรมหรือพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น แต่เนื่องด้วยพื้นที่ในเขตเมืองเพชรบุรีมีวัดและสถานที่อนุรักษ์หลายแห่ง รูปแบบของกิจกรรมจึงเกิดความขัดแย้งกันในพื้นที่จริงกับผังสีของเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรีที่มีพื้นที่จริงกับผังเมืองรวมแตกต่างกันมาก พื้นที่บริเวณป่าทางด้านตะวันตกในปัจจุบันมีการรุกล้ำเข้าไปเป็นจำนวนมากแต่ในพื้นที่ของผังเมืองยังคงให้เป็นเขตอนุรักษ์อยู่ ความเป็นจริงของผังเมืองและพื้นที่จริงจึงเป็นปัญหาในการพัฒนา อีกทั้งการกำหนดมิได้กำหนดเพราะสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากคิดและกำหนดในลักษณะภาพรวม การนำกฏหมายของผังเมืองไปใช้ก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะให้เป็นอย่างผังเมืองรวมกำหนดได้ ทำให้พื้นที่จริงมีการเปลี่ยนแปลงไม่ตรงกับผังเมืองรวม ผังเมืองรวมจึงเป็นแค่การกำหนดในระดับหนึ่งโดยไม่ได้เอา เครื่องมือที่เรียกว่ากฏหมายมาบังคับใช้ หากมีการควบคุมการใช้กฏหมายที่ดี ผังเมืองและการควบคุมจะมีประโยชน์มากในการพัฒนาเมือง
นอกจากประเด็นการกำหนดสีของผังเมืองกับการใช้ประโยชน์ที่ดินจริงๆแล้ว ยังมีความแตกต่างในด้านของพื้นที่เองด้วย พื้นที่จริงนั้นมีความสลับซับซ้อนของกิจกรรมอยู่การกำหนดผังเมืองรวมจึงมีอุปสรรคในการจัดระเบียบและข้อบังคับบางอย่าง การกำหนดให้เป็นในแต่ละสีบางครั้งไม่สามารถจะกำหนดลงไปได้ชัดเจนเพราะรูปแบบกิจกรรมยังไม่ชัดเจนพอ ทำให้ต้องอาศัยภาพรวมของพื้นที่ในการกำหนดสีของผังเมือง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

ปรัญญู เฟื่องเพียร 5074128325

prasong กล่าวว่า...

การวางผังเมืองรวม เป็นการวางแผนการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต ที่จะต้องมีการคาดการณ์ว่า ทิศทางของเมืองนั้นควรจะขยายตัวไปทางใด ภาครัฐจะต้องลงทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็นต่อความต้องการในแต่ละกิจกรรม ในส่วนของภาคเอกชนที่จะมาลงทุนเช่นกัน เมื่อได้มาศึกษารายละเอียดของผังเมืองรวมแล้ว ก็จะสามารถลงทุนได้สอดคล้องกับผังเมืองรวม ตามกิจกรรมที่ตนเองต้องการในบริเวณที่ภาครัฐมีโครงการในการพัฒนา ก็จะประหยัดเงินลงทุนของตนเอง และไม่ผิดต่อกฎหมายด้วย ถือเป็นการลงทุนของรัฐที่เสมอกับการลงทุนของภาคเอกชน

แต่ปัญหาในผังเมืองรวมก็คือ การวางผังเมืองมักจะวางแผนบนสภาพการใช้ที่ดินเดิม โดยไม่คำนึงถึงการขยายตัวในอนาคต รวมทั้งพื้นที่ใด มีความเหมาะสมกับกิจกรรมแบบไหน ซึ่งการวางแผนจะต้องมีการคำนวณความต้องการในด้านต่างๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพให้เห็นภาพสอดคล้องกับความต้องการอนาคต รวมทั้งการจัดการปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นให้บรรเทาลงหรือหมดไป ตัวอย่างที่ยกมาในที่นี้ คือ ผังเมืองรวมเมืองชะอำ ซึ่งมีศักยภาพของที่ดินเป็นเมืองที่มีบทบาทในด้านการท่องเที่ยว แต่ทว่าพบพื้นที่ที่ไม่ได้มีอยู่จริง คือ บริเวณพื้นที่รองรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บริเวณทางตอนเหนือของผัง ซึ่งแต่เดิมก็มีพื้นที่โรงงานอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ผังเมืองรวมที่ประกาศใช้ในปี 2543 พบว่ามีพื้นที่โรงงานขนาดตัวเพิ่มมากขึ้น จนเกือบจรดพื้นที่บริเวณริมหาด อีกทั้งการเข้าไปแทนที่พื้นที่ที่เป็นป่าอนุรักษ์ อีกทั้งยังอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการขยายตัวของโรงงานซึ่งอาจเป็นคำถามสำหรับคนในสังคม อีกทั้งการกำหนดบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งก็มีการกำหนดตามลักษณะที่ดินในปัจจุบัน แต่พื้นที่ที่ผังเมืองรวมได้กำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับการขยายตัวในอนาคตนั้น มีลักษณะที่ขยายตัวเป็นแนวยาวตามแนวชายหาดและถนนสายหลักไม่กระจุกตัว ซึ่งเป็นการขยายตัวของเมืองที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งภาครัฐจะลงทุนสูงในภาคการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นการวางผังเมืองไมคำนึงถึงลักษณะโครงสร้างของเมืองที่ดี อีกทั้งพื้นที่บริเวณริมหาดซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของเมืองชะอำด้านรายได้ และเอกลักษณ์ของเมือง ก็ขาดการควบคุมและการใช้ที่ดินให้ถูกกับศักยภาพ

ดังนั้นการวางผังเมืองรวม จึงมิใช่เพียงแค่การวางแผนการใช้ที่ดิน ตามลักษณะการใช้ที่ดินในสภาพปัจจุบันหรือตามทิศทางการขยายตัวเพียงอย่างเดียว ยังต้องมีภาพของการพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมการขยายตัวของเมืองที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต รวมทั้งการคำนวณประชากรในอนาคตรวมทั้งศักยภาพบทบาทของเมืองนั้นๆ ให้สอดคล้องกับการวางผังเมือง ซึ่งเป็นการชี้นำการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ มิใช่เป็นเพียงมาตรการณ์ควบคุมเท่านั้น

ประสงค์ จารุรัตนพงศ์
5074127725

S.sittichok กล่าวว่า...

การวางผังเมืองรวม (Comprehensive Planning) หากพิจารณาถึงความหมาย พรบ.การผังเมือง2518 คือ แผนผัง นโยบายและโครงการ รวมทั้งมาตรการควบคุมโดยทั่วไป เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสภาพแวดล้อม เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง

จะเห็นได้ว่ามีนัยทั้งมาตรการควบคุมและแนวทางในการพัฒนา หากพิจารณาถึงผังเมืองรวมเมืองเพชรบุรี (และผังอื่นๆในประเทศไทย)เห็นได้ว่าที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงมาตรการควบคุมโดยทั่วไป ซึ่งเป็นการระบายสีลงบนพื้นที่กิจกรรมเมืองที่เป็นอยู่เท่านั้น เพียงมีการขยายขอบเขตเดิมของบางกิจกรรมออกไปเล็กน้อยเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต เช่น ที่อยู่อาศัยประเภทต่าง เป็นต้น

การวางผังเมืองในปัจจุบันไม่ได้นำการกำหนดแนวทางการพัฒนามาใช้ให้สอดคล้องกับบทบาทของเมืองหรือเป้าหมายการพัฒนาที่วางไว้ ตัวอย่างเช่น เมืองเพชรบุรี ที่แผนพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันตกได้กำหนดให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเหล็กจากพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการใช้ประโยชน์ทางพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีความสอดคล้องกับแผน และมีความสมดุลกันระหว่างกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นการใช้มาตรการควบคุมสภาพปัจจุบันเพียงอย่างอย่างเดียวคงไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายหรือแผนที่วางไว้ได้

ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาถึงความต่างและช่องว่างของ สี ปัจจุบันและอนาคตในผังเมืองรวม ก็คงสรุปได้ว่าคงไม่มีความแตกต่างอะไรกันมาก แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นอาจเป็นปัญหาที่จะตามมาก็ได้เพราะในเมื่อผังเมืองที่วางไปไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาที่ถูกกำหนดไว้

สิทธิโชค สุระตโก
5074157525

Chayanee กล่าวว่า...

อ่านผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่

จากการที่ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ซึ่งได้หมดอายุลงและมีการต่ออายุไปแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ต้องมีการจัดการปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ขึ้น โดยที่กำหนดว่าจะมีการประกาศใช้จริงภายใน ปี 2551 นี้ ซึ่งเป็นผังเมืองที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงมีปัญหาและข้อเรียกร้องต่างๆตามมามากมาย

ปัญหาดังกล่าวมีทั้งเกิดมากการที่ผังเมืองรวมนั้นไม่สะท้อนวัตถุประสงค์หรือข้อกำหนดที่วางไว้ รวมถึงผังเมืองที่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน รวมถึงภาพการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่วางไว้นั้นขัดกับสภาพการพัฒนาที่เป็นอยู่จริงของพื้นที่ โดยมีสาเหตุมาจากช่องว่างของการกำหนดการใช้พื้นที่ที่มีอยู่จริงกับพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการกำหนดพื้นที่นั้นขัดแย้งกับสภาพที่เป็นอยู่และศักยภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น มีแผนที่จะขยายถนนถึง 70 สายทั่วเชียงใหม่รวมถึง ซึ่งเป็นถนนที่อยู่ในย่านธุรกิจสําคัญๆ ในเขตเมืองเก่า และ ถนนนอกเมือง โดยจะต้องทำการเวนคืนอาคารเก่าแก่และชุมชนในเขตเมืองเก่านับร้อยหลัง เช่น อาคารเก่าตั้งแต่ฝั่งฟ้าฮ่ามยาวไปถึงถนนสายต้นยาง สายสุดท้ายที่ อ.สารภี จรดเขต จ.ลำพูน และถนนสายเก่าแก่รอบตัวเมืองอีกว่าสิบเส้นทาง เพื่อที่จะนำมาพัฒนาเป็นถนนกว้าง 20 เมตร ทำให้สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่อยู่ในแนวถนนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะต้องถูกเวนคืน ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นอาคารโบราณและบ้านสถาปัตยกรรมแบบล้านนา-เชียงใหม่ กลุ่มสุดท้ายในเขตตัวเมือง รวมถึงยังมีพื้นที่ในเขตวัดเกต-ฟ้าฮ่ามที่จะถูกรื้อถอน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสมควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้มากกว่าการที่จะแทนที่ด้วยถนนกว้างกว่า 20 เมตร นอกจากนั้นยังมีปัญหาในการที่ผังเมืองรวมฉบับนี้กำหนดประเภทการใช้พื้นที่จากพื้นที่ที่เป็นอยู่จริง เช่น เขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง เขตพาณิชยกรรม แต่การกำหนดขึ้นมานั้นไม่ได้มีการกำหนดข้อกำหนดและมาตรการการควบคุมที่ชัดเจน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ในอนาคต

ดังนั้นจากปัญหาของการวางผังเมืองดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าในการวางผังเมืองที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนั้นยังขาดการทำความเข้าใจในสภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน และ ภาพการพัฒนาในอนาคต ซึ่งจะสะท้อนออกมาในผังเมืองรวมซึ่งไม่ตอบสนองกับภาพการพัฒนา และ ไม่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ เป็นเพียงแค่การระบายสีลงไปในพื้นที่เท่านั้น


ชญาณี จริงจิตร 5074111625

uthai กล่าวว่า...

แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมเป็นแผนผังแสดงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณพื้นที่กิจกรรมต่างๆเช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทสถาบันราชการ เป็นต้น จะขอยกประเด็นความขัดแย้งของพื้นที่สีน้ำเงิน(ที่ราชพสดุ)กับการใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ที่เป็นแบบพาณิชยกรรม(สีแดง)ซึ่งขัดกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ระบุไว้ในแผนผัง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของภาครัฐคือฝ่ายควบคุมกับฝ่ายการใช้ประโยชน์ซึ่งความเป็นจริงในกรณีนี้น่าจะเกิดจากการที่นักวางแผนไปกำหนดพื้นที่ของราชพัสดุให้เป็นสีน้ำเงินโดยไม่ได้พิจารณาดูการใช้ประโยชน์อาคารที่แท้จริงจึงทำให้เกิดปัญหาซึ่งในทางปฎิบัติควรจะกลืนสีให้เข้ากับความเป็นจริงเพื่อให้เจ้าของพื้นที่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เป็นต้น
ประเด็นที่สองกรณีการระบายสีทับไปบนพื้นที่จริงที่เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นการควบคุมในสิ่งที่มันเป็นอยู่แบบเดิม และน่าจะเป็นตัวตามการพัฒนามากกว่าตัวนำการพัฒนา เช่นในบล็อคบริเวณศูนย์กลางพาณิชยกรรมซึ่งเป็นสีแดงอยู่แล้วแต่ก็ไปตีกรอบตามหลังให้เป็นสีแดงเป็นต้น ประเด็นที่สามกรณีส่วนใดที่ไม่มีอยู่ในพื้นที่จริงแต่มีการระบายสีเพื่อกำหนดขึ้นใหม่ซึ่งในประเด็นนี้จะเป็นการนำการพัฒนาโดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพเศรษฐกิจ สังคม แนวโน้มประชากรเพื่อดูทิศทางการขยายตัวของเมืองและเพื่อกำหนดพื้นที่รองรับย่านต่างๆ แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้เกิดช่องว่างได้คือจะเป็นการควบคุมหรือจำกัดสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินให้อยู่ในข้อกำหนดของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งในความเป็นจริงภาครัฐควรจ่ายค่าชดเชยให้หากว่าเจ้าของที่ดินไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดได้ตามวัตถุประสงค์ในพื้นที่ของเขาเพื่อให้เกิดความยุติกรรมขึ้นในสังคม
ผู้ส่ง : นายอุทัย ชาติเผือก รหัส 5074171225

vittawat กล่าวว่า...

ผังเมืองรวมเมืองอุบลราชธานี-วารินชำราบ ปี 2547
ในการวางผังเมืองหรือการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น มักจะเป็นการควบคุมหรือวางแผนในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ให้เมืองเกิดการขยายตัวที่ผิดทิศทาง หรือเกิดการกระจายตัวจนเกินไป มิเช่นนั้น รัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างระบบสาธารณูปโภค ตามการพัฒนาเหล่านั้น ในการวางแผนนี้รัฐก็ควรจะใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำการพัฒนา
โดยในส่วนของผังเมืองรวมอุบลราชธานี-วารินชำราบนั้น ก็จะพบว่า บางส่วนก็เป็นการกำหนดหรือควบคุมสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ให้ขยายตัวเพิ่ม แล้วก็มีบางส่วนเป็นส่วนที่กำหนดขึ้นมาใหม่ เช่นพื้นที่สีม่วงในทางล่างซ้ายของผัง ก็เป็นส่วนที่เกิดขึ้นแล้วค่อยจึงมากำหนดให้เป็นสีม่วง เพื่อเป็นส่วนอุตสาหกรรม อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ พื้นที่เส้นทางระหว่างตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานีเอง และตัวอำเภอวารินชำราบ ตรงช่วงหลังข้ามสะพานจากฝั่งอุบลราชธานีมา พบว่าในปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพ จากพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมและชนบท หรือสีเขียว กลายเป็นพื้นที่สีแดงและสีเหลือง และค่อยมาคิดควบคุม โดยกำหนดพื้นที่สีเขียวอ่อน ไว้เป็นพื้นที่กันชน เพื่อไม่ให้ตัวเมืองขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นส่วนที่กำหนดขึ้นไว้ก่อนที่การพัฒนาจะเกิดขึ้น แล้วก็เกิดขึ้นเป็นไปตามแผนก็คือพื้นที่สีเหลืองบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 231 ซึ่งในอดีตนั้นเป็นพื้นที่รกร้าง และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วน แต่หลังจากการวางผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเหลือง ก็เริ่มมีการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า ในการจะกำหนดหรือควบคุมเพื่อให้เป็นไปตามผังเมืองรวมนั้น ผู้วางจะต้องดูสภาพพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะขยายขึ้นจริง และต้องมีการควบคุมพื้นที่ส่วนที่ไม่ต้องการให้มีการพัฒนา เพื่อป้องกันการรุกล้ำ หรือเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ให้ผิดไปจากผังเมืองรวมด้วย

วิทวัส กิ่งสุวรรณ
การวางผังเมือง 507 41517 25

pattamaporn.w กล่าวว่า...

จากการอ่านผังเมืองรวมเมืองชะอำ พบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงการระบายสีลงบนพื้นที่กิจกรรมต่างๆของเมืองตามที่เป็นอยู่จริงเท่านั้น และมีการขยายขอบเขตเดิมของพื้นที่บางกิจกรรมออกไปเพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมนั้นๆในอนาคต เช่น พื้นที่ที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่พาณิชยกรรม เป็นต้น ซึ่งยังไม่สามารถตอบภาพการพัฒนาในอนาคตของพื้นที่ได้ เป็นเพียงการระบายสีพื้นที่กิจกรรมในปัจจุบันเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงแผนที่ว่าส่วนใดที่ระบายสีทับไปบนพื้นที่จริงที่เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว พบว่ามีทั้งการระบายว่าเป็นที่ดินที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ ทั้ง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากบริเวณตอนเหนือของผัง ช่วงย่านการค้าบริเวณถนนนราธิป นอกจากนี้ยังมีที่ดินที่มีการระบายสีให้เป็นประเภทสถาบันราชการ ในบริเวณทางตอนใต้ของผัง ซึ่งเป็นพื้นที่ค่ายพระรามหก หรือ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนอยู่แล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาว่าส่วนใดที่ไม่มีอยู่ในพื้นที่จริงแต่มีการระบายสีเพื่อกำหนดขึ้นใหม่ พบว่ามีการระบายสีที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าบริเวณทางตอนเหนือของพื้นที่ผัง ซึ่งเป็นพื้นที่จำนวนมากและเกือบติดพื้นที่ทะเล ซึ่งอาจมีช่องว่างระหว่างการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตกับพื้นที่ที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องการขัดแย้งกันของการใช้พื้นที่นี้ ซึ่งพื้นที่เดิมยังคงเป็นพื้นที่ป่าไม้อยู่ นอกจากนี้การที่กำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมใกล้กับทะเลก็อาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การระบายสีพื้นที่ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยและหนาแน่นปานกลางที่ให้มีการขยายตัวตามแนวยาวของชายหาด ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการจัดการบริการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเนื่องจากจะทำให้รัฐต้องลงทุนสูงมากยิ่งขึ้น

ปัทมพร วงศ์วิริยะ 507 41290 25

saochao กล่าวว่า...

โดยหลักการแล้ว การวางผังเมืองรวม จะเป็นการวางแผนการใช้ที่ดินประเภทต่างๆที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต มีการคาดการณ์ทิศทางการขยายตัวของเมือง รวมถึงการวางแผนเรื่องระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆที่จำเป็นต่อการรองรับการในอนาคต

แต่การวางผังเมืองรวมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นของจังหวัดเพชรบุรี หรือจังหวัดอื่นๆในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการระบายสีไปตามกิจกรรมที่มีอยู่เดิม โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมที่ควรจะเป็นของพื้นที่ หรือไม่ก็จะวางการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่โดยไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบว่าสมควรหรือไม่ แต่วางไปเพราะเห็นว่าในพื้นที่มีการใช้ที่ดินประเภทนั้นๆไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ ปัญหาที่พบจากการวางผังเมืองรวมในปัจจุบันอีกอย่างก็คือ การกำหนดพื้นที่ในผังขัดกับการใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ ยกตัวอย่างพื้นที่ตอนกลางเมืองเพชรบุรี และอีกหลายเมืองที่เป็นเมืองเก่ามีโบราณสถานตั้งอยู่กลางเมือง พบว่าผังเมืองรวมของเมืองเหล่านี้มีการกำหนดให้บริเวณกลางเมืองเป็นพื้นที่สีแดงที่เป็นย่านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่น ทั้งที่จริงแล้วบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างการใช้พื้นที่จริงกับผังสีของเมือง นอกจากนี้ก็ยังมีพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ที่มีการกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์(ป่าไม้)ขนาดใหญ่ แต่เมื่อมาดูการใช้ประโยชน์ที่ดินจริง กลับพบว่ามีการรุกล้ำเข้าไปมาก กินพื้นที่ที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวม แสดงให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่ยังไม่เข้มแข็งพอ จึงไม่สามารถทำให้พื้นที่จริงเป็นไปตามที่ผังเมืองกำหนดได้ ซึ่งเมื่อมาพิจารณาช่องว่างระหว่างการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตกับพื้นที่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันอาจไม่มีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากผังที่ใช้กำหนดพื้นที่ในอนาคต ก็คือการระบายสีจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเดิมนั่นเอง

จากปัญหาการวางผังเมืองที่ได้กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจในการวางผังและความหละหลวมของข้อกฎหมายที่ใช้บังคับ ทำให้ผังเป็นเพียงแค่ข้อกำหนดที่ไม่สามารถใช้กำหนดได้จริง เป็นเพียงมาตรการควบคุมที่ขาดประสิทธิภาพเท่านั้น

เสาร์เช้า ช้างกลาง 507 41655 25

onaroon กล่าวว่า...

ผังเมืองรวมเมืองขอนแก่นกับสภาพพื้นที่จริงในปัจจุบัน มีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากสภาพปัจจุบันของเมืองขอนแก่น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ มีความเจริญอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความขัดแย้งกับผังเมืองรวมที่วางไว้ ยกตัวอย่างเช่น บริเวณที่กำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยเบาบางที่อยู่ติดกับถนนสายหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับการวางผังเมืองรวมเพื่อการพัฒนา และรองรับการเจริญเติบโตของเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณที่เป็นพื้นที่ที่ติดกับถนนสายหลักนั้นควรจะเป็นพื้นที่เพื่อกิจกรรมจำพวกพาณิชยกรรม เนื่องจากจะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่มากกว่าการเป็นย่านที่พักอาศัย ปัญหาของการวางผังเมืองรวมนั้นไม่ว่าที่ไหนก็ตาม คือการลงสีตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ดังตัวอย่างที่กล่าวมานั้น ก็จะเห็นได้ว่าในการวางผังนั้นขาดการวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของพื้นที่ในการกำหนดสี ควรมีการวิเคราะห์ถึงสภาพทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงไปเรื่องของประชากร ซึ่งป็นสิ่งสำคัญมากในการวางผัง เนื่องจากจะไปตัวกำหนดในการขยายตัวของเมืองในอนาคต ซึ่งในเมืองใหญ่ๆดังเช่น เมืองขอนแก่น เรื่องประชากรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการขยายตัวของเมืองอย่างมาก เนื่องจากมีแรงดึงดูดในการอพยพเข้ามาทำงานของแรงงาน รวมไปถึงการเข้ามาศึกษาของประชากรวัยเรียน เนื่องจากมีมหาลัยระดับภูมิภาคตั้งอยู่ ดังนั้นในการวางผังเมืองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ถึงสภาพความเหมาะสมทางด้านต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองจากประชากรที่เพิ่มมากขึ้นให้เป็นไปอย่างมีทิศทาง

อรอรุณ สิทธิ 5074167825

Sorasak C. กล่าวว่า...

ให้นิสิต "อ่าน" ผังเมืองรวมจังหวัดตรัง โดยพิจารณาถึงผังสี/แผนที่ว่าส่วนใดที่ระบายสีทับไปบนพื้นที่จริงที่เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว (เช่นระบายว่าเป็นย่านอยู่อาศัยหนาแน่น ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น) และส่วนใดที่ไม่มีอยู่ในพื้นที่จริงแต่มีการระบายสีเพื่อกำหนดขึ้นใหม่ แล้วอภิปรายว่ามีช่องว่างอะไรระหว่างการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตกับพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว

ในการวางผังเมืองรวมเมืองตรัง ได้มีการกำหนดแนวความคิดในการวางผังที่สำคัญ คือ การกำหนดรูปแบบเมืองให้เป็นแบบศูนย์กลางเดียว โดยการส่งเสริมย่านพาณิชยกรรมเดิม ซึ่งเป็นศูนย์กลางหลักของเมืองเพียงศูนย์กลางเดียว ให้เป็นเขตพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย ก็คือ การส่งเสริมพื้นที่โดยรอบย่านพาณิชยกรรม ให้เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เพื่อเป็นพื้นที่เพื่อการรองรับการเจริญเติบโตของเมืองต่อไปในอนาคต โดยมีนโยบายในการพัฒนาที่อยู่อาศัย การบริการด้านสังคม การสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้เหมาะสมและได้มาตรฐานควบคู่กันไป

จากการกำหนดสีในการใช้ที่ดินประเภทต่างๆ ที่ออกมาในผังเมืองรวม โดยส่วนใหญ่ตรงกับความสภาพการใช้ที่ดินในช่วงเวลานั้น และในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังคงใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะการใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ซึ่งมักจะอยู่บริเวณชานเมืองและเป็นการใช้ที่ดินส่วนใหญ่ของการใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย แต่การใช้ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และหนาแน่นปานกลางที่อยู่บริเวณใจกลางเมืองนั้นยังไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง แม้ในปัจจุบันพื้นที่จะมีการพัฒนาไปหลายปีแล้ว บางพื้นที่ก็ยังคงสภาพเดิมอยู่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ได้วางแผนและการกำหนดผังสีนั้นๆ ไว้

การกำหนดทีพื้นที่ขึ้นมาใหม่ที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงนี้ แม้จะมาจากแผนการพัฒนา ซึ่งมีทิศทางที่ได้มาจากการสรุปผลจากข้อมูลต่างๆแล้ว แต่ในความเป็นจริงการพัฒนาในพื้นที่นั้นๆ อาจจะมีปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป เกิดเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดผลการพัฒนาจริงๆ ที่ออกมาคลาดเคลื่อนจากข้อมูลที่มีอยู่ และเมื่อนำแผนไปปฏิบัติ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ตลอดจนการลงทุนของเอกชนจากการสนับสนุนของแผนนั้น เมื่อผลที่ได้ออกมาไม่ตรงกับการคาดการณ์ ไม่มีการพัฒนาหรือพัฒนาพื้นที่ไม่เป็นอย่างที่ได้คิดไว้ ย่อมเกิดผลเสียต่างมากมาย เช่น ความคุ้มค่าของเม็ดเงินในการพัฒนาพื้นที่ ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ ซึ่งถ้าเป็นพื้นที่ที่สำคัญอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อแผนการพัฒนาพื้นที่โดยรวมได้

สรศักดิ์ ชิตชลธาร
5074156925