วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ให้นิสิตเลือกอภิปราย/แสดงความเห็นหนึ่งในสองประเด็นต่อไปนี้

1. บันได 8 ขั้นของการมีส่วนร่วมของประชาชน กับ แผน/ผังเมืองเพชรบุรี (หรือกรณีอื่น ๆ ที่นิสิตสนใจ)
2. วิเคราะห์ Stakeholder ในประเด็นปัญหาประเด็นใดประเด็นหนึ่งในพื้นที่เพชรบุรี (หรือกรณีอื่น ๆ ที่นิสิตสนใจ)

14 ความคิดเห็น:

Damrong Siammai กล่าวว่า...

การวิเคราะห์ Stakeholder ประเด็นปัญหาปัญหาพื้นที่เกาะลันตา

เกาะลันตา ณ ปัจจุบันมีพลวัตรการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยเร่งจากกิจกรรมท่องเที่ยวชายหาด ตามนโยบายของรัฐในการผลักดันให้เกาะลันตาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายหาดในระดับโลก กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ดูเหมือนว่าพื้นที่ไม่สามารถตั้งรับกับสถานการณ์ได้ทันการณ์ เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมท้องถิ่นตามมา สำหรับการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) โดยยึดสถาบัน/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลัก (ปัจจัยทางกาย เศรษฐกิจ และสังคม) จึงจะเห็นว่า Stakeholder หลัก ในความคิดเห็นของผู้เขียนเอง คือ อบต. ศาลาด่าน อบต.เกาะลันตาใหญ่ และ อบต.เกาะลันตาน้อย ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยาว (รายเล็ก-รายใหญ่) และชุมชนดั้งเดิมของเกาะลันตา ซึ่งเป็นมิติทางวัฒนธรรม เช่น วิถีชีวิต การนับถือศาสนา และความเชื่อ กลุ่มกิจกรรมชุมชน เช่น กลุ่มท่อเงที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนบ้านทุ่งหยีเป็น เป็นต้น ส่วน Stakeholder ในระดับรองคือ หน่วยงานของรัฐซึ่งจะปรากฏในรูปของกฏหมาย/กฏระเบียบ และความรับผิดชอบทางพื้นที่ เช่น พื้นที่อทุยานแห่งชาติ เขตห้ามทำประมง 3,000 เมตรจากชายฝั่ง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การรังวัดที่ดิน การวางผังเมือง งานก่อสร้างถนน ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น สำหรับเทศบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่ มีขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบเพียงเล็กน้อย แต่มีความสำคัญในฐานะเมืองประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์ความเป็นชุมชนพื้นถิ่นสามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง จาก Stakeholder ของพื้นที่เกาะลันตาที่อ้างถึงจะเห็นว่ามีจุดร่วมในเชิงพื้นที่เหมือนกันคือ ความเป็นสาธารณะ/ทรัพย์สินร่วมของชุมชน เช่น ชายหาย/ชายฝั่ง ที่ดิน ป่าไม้ การคมนาคม เป็นต้น ที่ค่อนข้างเปราะบางต่อการเข้าครอบครองและมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การดำรงความยั่งยืนของพื้นที่ (กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม) แนวทางหนึ่งคือการพัฒนาสถาบัน/องค์กรของชุมชนเป็นเครื่องมือในการจัดการพื้นที่ซึ่งมีองค์ประกอบของ Stakeholder ที่ยกมาข้างต้น

ปรัญญู กล่าวว่า...

วิเคราะห์ Stakeholder ในประเด็นปัญหาประเด็นใดประเด็นหนึ่งในพื้นที่เพชรบุรี
การมีส่วนร่วมของประชาชน มีการคัดค้านจากชาวบ้าน อาจารย์ และนักเรียนที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง ที่ทางการต้องการสร้างสร้างโรงงานกำจัดขยะ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยเมื่องสร้างเสร็จจะกำจัดขยะโดยวิธีเผาและกลบฝังสารเคมีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเดินเครื่องทำงานปีละ 290 วัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบริเวณที่เตรียมจัดตั้งโรงงานนั้นอยู่ใกล้ห้วยแม่ประจันต์ ซึ่งเป็นต้นน้ำเพชรบุรี ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มรู้สึกวิตกเป็นอย่างยิ่งว่านอกจากสารวัตถุหนักที่เป็นพิษเหล่านี้จะตกสู่บ้านเรือนประชาชนแล้ว ยังจะไหลสู่ลำห้วยแม่ประจันต์ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ส่งผลกระทบโดยวงกว้างเพราะแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านหลายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอหนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ท่ายาง และอำเภอเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนยางน้ำกลัดใต้ได้คัดค้าน โครงการจัดตั้งโรงงานกำจัดสารพิษแห่งนี้ใช้งบประมาณลงทุน 1,200 ล้านบาท แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลย จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาถึงทราบข่าวเป็นการภายใน ขณะเดียวกันมีความพยายามจากบางฝ่ายต้องการให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นสีม่วงเพื่อให้จัดตั้งโรงงานได้ ขณะนี้ชาวบ้านยังได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดวางแผน เพราะทางฝ่ายผู้ว่าฯไม่ได้บอกให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารมาก่อน อีกทั้งยังได้บอกกับประชาชนว่าจะไม่ให้เกิดพื้นที่สีม่วงขึ้นในพื้นที่ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอหนองหญ้าปล้องจะเป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้ประชาชนมีการคัดค้าน เพราะทุกฝ่ายจะได้รับผลกระทบ การเปลี่ยนสีของผังโดยไม่ได้ขอความเห็นของประชาชน จะส่งผลในหลายๆด้าน ทั้งทางการคัดค้านการต่อต้าน การไว้วางใจระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ซึ่งต่อไปนี้ทางฝ่ายประชาชนจะคอยจับตาดูจากการทำงานของภาครัฐ ว่ามีผลประโยชน์ได้เสียอย่างไรกับการจัดทำผังสีโดยที่ไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ปรัญญู เฟื่องเพียร 5074128325

prasong กล่าวว่า...

ในอดีตการพัฒนามักจะถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ในบางครั้งจึงอาจจะขัดกับความต้องการของคนในพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ในปัจจุบันได้พยายามสร้างการปกครองในส่วนท้องถิ่น ให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของตัวเองได้ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการกับคนในพื้นที่ แนวทางในการพัฒนาเมืองวิธีหนึ่ง คือการวางผังเมืองรวม ซึ่งการวางผังเมืองรวมนั้น เป็นวิธีการสำคัญในการวางแผนการพัฒนาเมือง ให้มีขั้นตอนและเข้าใจความเติบโตของเมืองในอนาคต รวมทั้งศักยภาพของพื้นที่ด้วย

แต่ด้วยเหตุผลบางประการ การวางผังเมืองรวมนั้น อาจมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น อาจเป็นคนที่มาจากหลายกลุ่ม ซึ่งสามารถกำหนดความต้องการของตัวเองในอนาคตลงในผังเมืองรวมได้ แต่ปัญหาก็คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางคนเป็นผู้มีอิทธิพล และกำลังเงินมาก ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยอาจกำหนดความต้องการของตัวเอง โดยขัดแย้งและสร้างปัญหากับคนส่วนใหญ่ ที่ก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหมือนกันแต่ด้วยขาดกำลัง และทุนทรัพย์ถึงแม้จะมีคนมากกว่า ก็มิอาจต้านทานได้ อย่างเช่น ในเขตผังเมืองรวมเมืองชะอำ ซึ่งเป็นเมืองที่มีบทบาทเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ทว่ากับมีโรงงานขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดมลพิษ คือ โรงงานปูน ซึ่งปรากฏให้ใช้ที่ดินในบริเวณผังเมืองรวม ที่เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยกับแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีความขัดแย้งกัน ในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นพื้นที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม จะจัดเก็บได้สูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรม กับที่อยู่อาศัย

ดังนั้น การวางผังเมืองควรจะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะความต้องการของคนส่วนน้อยกับคนส่วนใหญ่ ซึ่งต่างก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหมือนกัน ควรที่จะสร้างความเสมอภาคกัน ให้ใช้ที่ดินตามบทบาทที่ควรจะเป็น หรือถ้าอุตสาหกรรมยังจำเป็นจะต้องดำเนินต่อไป ก็ควรมีการควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษ ให้คนส่วนน้อยก็ยังดำเนินงานใหญ่ได้ และคนส่วนใหญ่ก็อยู่ได้เช่นกัน ในขณะที่ท้องถิ่นก็สามารถจัดเก็บรายได้ได้


ประสงค์ จารุรัตนพงศ์
5074127725

S.sittichok กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
S.sittichok กล่าวว่า...

วิเคราะห์ Stakeholder ในประเด็นการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองชะอำ

จากการ ที่ผังเมืองรวมเมืองชะอำหมดอายุบังคับลงในปี2548 และต่ออายุผังฯตามกฎหมายไปแล้ว2ครั้งซึ่งหมดอายุใน วันที่ 29 พ.ย.2550 ขณะนี้ สำนักงานเทศบาลเมืองชะอำ (รับการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลาง) ได้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการปรับปรุงผังเมืองรวมฯ ซึ่งในตามหลักการแล้วจำเป็นที่ต้องมีการศึกษารายละเอียดด้านต่างๆใหม่ทั้ง หมดเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาเมืองที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(Stakeholder) ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามด้วยเช่นกัน
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(Stakeholder)ที่ เหมาะสมในเรื่องของการวางผังเมืองนั้น จะเป็นผู้ที่มีสิทธิในการการพัฒนาที่ดินในเขตวางผังซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้ รับผลกระทบโดยตรง หากไม่มีการคัดเลือกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ดีแล้วกระบวนการรับฟังความคิด เห็นหรือมีส่วนร่วมอาจจะไม่ได้ประเด็นที่ถูกต้องจากผู้มีส่วนได้เสียอย่าง แท้จริง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังจากการที่วางผังฯไปแล้ว
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการะบวนการวางผังเมืองรวมของบ้านเรานั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงการรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากเดิมที่กำหนดไว้อย่าง น้อย2ครั้ง มาเป็นไม่ต่ำกว่า1ครั้ง ดังนั้นการกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(Stakeholder) โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างเมืองชะอำ ที่มีกลุ่มคนที่หลากหลายเข้ามาอยู่ในเมืองชะอำ จึงจำที่เป็นจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ผลสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และนำผลที่ได้ไปวางแผนพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของประชาชน ในพื้นที่อย่างแท้จริง

สิทธิโชค สุระตโก
5074157525

Chayanee กล่าวว่า...

วิเคราะห์ Stakeholder ในประเด็นปัญหาการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ 3 ของประเทศไทย ที่มีการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวม ซึ่ง
วัตถุประสงค์ของการวางผังเมืองที่สำคัญก็คือ การใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เมืองให้มีความสะดวกสบาย มีระเบียบเรียบร้อย สวยงาม มีความปลอดภัย มีสุขลักษณะและสภาวะสิ่งแวดล้อมที่ดีรวมทั้งมีการบำรุงรักษาสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม โบราณคดี ตลอดจนสิ่งเสริมด้านเศรษฐกิจ และสังคมของคนในเมืองให้ดีขึ้น

โดยภายในปี 2551 กรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการเตรียมประกาศใช้ร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 และจะมีผลบังคับใช้ 5 - 7 ปีข้างหน้า ซึ่งผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้ กลายเป็นประเด็นร้อน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลายภาคส่วน ว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องมาจากผังเมืองรวมฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้นั้น มีโครงการที่จะขยายถนนถึง 70 สายทั่วเชียงใหม่รวมถึง ย่านธุรกิจสําคัญๆ ในเขตเมืองเก่า และ ถนนนอกเมือง และมีโครงการจะเวนคืนอาคารเก่าแก่และชุมชนในเขตเมืองเก่านับร้อยหลัง เช่น อาคารเก่าตั้งแต่ฝั่งฟ้าฮ่ามยาวไปถึงถนนสายต้นยาง สายสุดท้ายที่ อ.สารภี จรดเขต จ.ลำพูน และถนนสายเก่าแก่รอบตัวเมืองอีกว่าสิบเส้นทาง ซึ่งจะแทนที่ด้วยถนนกว้าง 20 เมตร และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่อยู่ในแนวถนนจะต้องถูกเวนคืนตามร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่จะประกาศใช้ภายในปีนี้ นอกจากนั้นในส่วนของการกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งแบ่งออกเป็นประมาณ 10 ประเภทนั้น พบว่าบางประเภทบางสีมีความขัดแย้งกับวัตถุประสงค์และข้อกำหนดที่เขียนไว้อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างอาคารที่กำหนดความสูง ในที่ดินแต่ละประเภท การอยู่อาศัยหรือการประกอบพาณิชยกรรมประเภทห้องชุด อาคารชุด หรือหอพัก โรงแรมตามกฏหมายว่าด้วยโรงแรม ซึ่งจะใช้การกำหนดโดยใช้ความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัยเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและข้อเท็จจริงทางสังคมเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่มาประกอบด้วย

จากประเด็นปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของปัญหาจากผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวนั้นสะท้อนมาจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง(Stakeholder)ที่อยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น ที่มีการเคลื่อนไหวโดยออกมาเรียกร้องผ่านสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมถึงเผยแพร่ในเวบไซท์ต่างๆรวมถึงจัดให้มีการเสวนา จัดเวทีประชาชน รวมถึงมีการยื่นหนังสือคัดค้านผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้ ซึ่งผังเมืองดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการประกาศ 90 วัน ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อประกาศออกมาบังคับใช้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกือบจะเป็นขั้นตอนที่สุดท้าย แสดงให้เห็นว่าในการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการทำงานที่อาจจะขาดตกบกพร่อง Stakeholder ที่ทำการศึกษาอาจไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจริงจัง หรือ ภาครัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอาจละเลยหรือเห็นผลประโยชน์บางส่วนมากกว่าข้อเท็จจริง จึงทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายจากผังเมืองรวมฉบับใหม่ฉบับนี้

โดย Stakeholder ที่เกี่ยวข้องและออกมาเรียกร้องคัดค้านเป็นทั้งองค์กรภาคเศรษฐกิจเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่ลำพูน รวมทั้งองค์กรที่เป็นพันธมิตร อันได้แก่สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยสาขาเชียงใหม่-ลำพูน ชมรมผู้ค้าวัสดุก่อสร้างจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมพ่อค้าจีนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมี กลุ่มองค์กรอิสระและภาคประชาชน เช่น กลุ่มรักษ์บ้าน-รักษ์เมืองเชียงใหม่ คณะทำงานย่านวัดเกต ตัวแทนชาวบ้านในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ นอกจากกลุ่มภาคเอกชนและภาคประชาชนแล้ว Stakeholder ที่สำคัญในการดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมในครั้งนี้คือ ภาครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสำนักโยธาธิการและผังเมืองเชียงใหม่เอง และ เทศบาลนครเชียงใหม่

ซึ่งบทเรียนจากผังเมืองรวมเชียงใหม่ฉบับนี้ คือ การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ Stakeholder เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการกำหนดทิศทางและแนวทางในการบริหารจัดการพัฒนาเมือง ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ หรือ ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

ชญาณี จริงจิตร 5074111625

uthai กล่าวว่า...

วิเคราะห์ Stakeholder ประเด็นยกเลิกพื้นที่สีม่วง 3 อำเภอ เขตผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี
กรณีชาวบ้าน อ.หนองหญ้าปล้อง อ.บ้านแหลม และบางส่วนของ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี คัดค้านมติของอนุกรรมการผังเมืองรวม จ.เพชรบุรี ที่กำหนดให้ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ และ อ.บ้านแหลม ที่เป็นแหล่งประมงชายฝั่ง ให้เป็นพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (พื้นที่สีม่วง) โดยชาวบ้านต้องการให้คงสภาพที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) ซึ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้นำข้อร้องเรียนส่งไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อพิจารณานั้น คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาคำร้องทุกข์ของผู้มีส่วนได้เสียผังเมืองรวม ที่มี ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองประเทศและผังเมืองภาค เป็นประธาน ได้เชิญกรรมการประชุมพิจารณาในเรื่องนี้ ผลการประชุมสรุปว่า การกำหนดพื้นที่ อ.บ้านแหลม เป็นสีม่วงเป็นการขัดต่อประกาศเขตคุ้มครองของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปี 2547 ที่กำหนดให้ อ.บ้านแหลม เป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและพิจารณาเห็นว่าปัจจุบัน จ.เพชรบุรี มีพื้นที่อุตสาหกรรมอยู่แล้วประมาณกว่า 40,000 ไร่ ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ "หากมีการประกาศให้พื้นที่ อ.บ้านแหลม และ อ.หนองหญ้าปล้อง เป็นเขตสีม่วง จะทำให้ จ.เพชรบุรี มีพื้นที่อุตสาหกรรมรวมกว่า 60,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้มีแรงงานมากกว่าประชากรรวมทั้งจังหวัด และที่สำคัญขณะนี้ จ.เพชรบุรี ประกอบกับพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คณะกรรมการทั้ง 15 คน จึงมีมติให้ยกเลิกการกำหนดพื้นที่สีม่วงใน อ.หนองหญ้าปล้อง และ อ.บ้านแหลม อย่างเป็นเอกฉันท์ ( มติชนรายวัน. 2549.)
จากเหตุการณ์ดังกล่าวพอจะแยกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยกลุ่มประชาชนในพื้นที่นั้นดูจะเป็นผู้เสียผลประโยชน์คือได้รับผลกระทบแต่ในทางกลับกันถ้าเขามีส่วนได้มากกว่าเสีย ก็อาจจะไม่มีปัญหาก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาต้องการให้พื้นที่ของเขาเป็นอะไรระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับพื้นที่การเกษตรแบบเดิม โดยอาจพิจารณาว่าอะไรที่ทำให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ของเขา ซึ่งปัญหาน่าจะมาจากการที่ประชาชนไม่ได้รับข่าวสารหรือไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นหลักในการตัดสินใจ ซึ่งถ้าลงเอยด้วยกันได้ทั้ง 3 กลุ่มผลประโยชน์ก็ตกอยู่ร่วมกัน ส่วนกลุ่มที่สองก็คือหน่วยงานของภาครัฐที่เป็นผู้วางแผนพัฒนาตามปกติต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แต่เดิมกำหนดไว้อย่าง น้อย2ครั้ง มาเป็นไม่ต่ำกว่า1ครั้ง ซึ่งจะเห็นว่าเป็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่จะตัดปัญหาของการมีส่วนร่วมของประชาชนให้น้อยลง โดยไม่คิดสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องของผังเมืองรวม รวมทั้งไม่มีการให้ความร่วมมือกันอย่างแท้จริงของประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าหน้าที่ก็ยังขาดการประชาสัมพันธ์และขาดประสิทธิภาพในการโน้มน้าวให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของทางราชการ อาจเป็นไปได้ว่าภาครัฐซึ่งเป็นผู้มีอำนาจนั้น สามารถครอบงำประชาชนให้ยอมรับและเข้ามามีส่วนร่วมแบบไม่จริงจังได้ โดยให้ดูเหมือนว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ผลที่ได้เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเข้าใจว่าภาครัฐมีส่วนได้ส่วนเสียให้กับกลุ่มที่สาม คือ ภาคเอกชน นั่นเอง
ผู้ส่ง : นายอุทัย ชาติเผือก รหัส 5074171225

pattamaporn.w กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
pattamaporn.w กล่าวว่า...

การวิเคราะห์ Stakeholder ในประเด็นปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จ.ระยอง
จากการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในจ.ระยอง ส่งผลให้จ.ระยองกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ขณะเดียวกันผลจากการพัฒนาพื้นที่ได้ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้การขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชนเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมทำให้ขีดความสามารถด้าน
โครงสร้างพื้นฐานและการบริการพื้นฐานทางสังคมไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ได้รับการจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆมากถึงร้อยละ 60 สำหรับการดำเนินการอุตสาหกรรม ทำให้มีน้ำดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดการขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาคอุตสาหกรรมได้ ในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น การที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำระยอง ทำให้ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถูกสะสมในอากาศเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่สุขภาพของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้เมื่อทำการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในจ.ระยอง ดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปเป็นประเด็นที่สำคัญและทำการวิเคราะห์ Stakeholderดังนี้
1.การพัฒนาอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่าไม้
เพื่อให้พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่าไม้ คงอยู่พร้อมๆกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนร่วมสำคัญดังนี้ กลุ่มเกษตรกรและประมง กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป่าไม้ และประชาชนที่อาศัยในพื้นที่
2.การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด
การจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและภาคอุตสาหกรรมนั้น
จะประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมสำคัญได้แก่ กรมชลประทาน บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากรน้ำ รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
3.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนร่วมสำคัญ ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมควบคุมมลพิษ องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและภาคอุตสาหกรรม

การวิเคราะห์ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสื่อสารและเจราจาหารือกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกันในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ผลประโยชน์จากการสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการวิเคราะห์ผู้มีส่วนร่วมสำคัญ มีทั้งการสร้างประชามติเกี่ยวกับการพัฒนาในอนาคต รวมไปถึงความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละคนแต่ละกลุ่ม เพื่อให้การพัฒนานั้นเกิดประโยชน์ต่อทุกๆฝ่าย อย่างแท้จริง

ปัทมพร วงศ์วิริยะ 507 41290 25

vittawat กล่าวว่า...

การวิเคราะห์ stakeholder ในกรณีนี้ขอยกตัวอย่างที่พึ่งเกิดขึ้น ก็คือกรณีการก่อสร้างเขื่อนบึงกุ่ม เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและลาว ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกในแม่น้ำโขง โดยเขื่อนแห่งนี้จะตั้งอยู่ในบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ที่ติดกับประเทศลาว ซึ่งต่อมาประชาชนของจังหวัดอุบลราชธานีเอง ซึ่งไม่ได้มีส่วนรับรู้เกี่ยวกับโครงการนี้ ก็ได้มีการร้องเรียนไม่เห็นด้วย กับโครงการนี้ เพราะว่า มีการบิดเบือนข้อมูล อีกทั้งยังมีผลกระทบกับชาวบ้านโดยตรง โดยที่ฝ่ายรัฐเอง หน่วยงานรับผิดชอบก็คือ สำนักพัฒนาพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ก็ได้มีการอ้างถึงว่าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยต่อมาทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้มีหนังสือขอให้ระงับโครงการ เพราะว่ามีผลกระทบต่อประชาชนชาวอุบลราชธานีโดยตรง อีกทั้งโครงการดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนของจังหวัด ฉะนั้นการจะก่อสร้างหรือทำโครงการใดๆ ก็ควรที่จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ รวมไปถึงการถามความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ มิใช่การคิดมาจากคนตำแหน่งสูงเพียงไม่กี่คน แล้วก็อ้างถึงประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะที่ผ่านมายกตัวอย่างเช่นกรณีเขื่อนปากมูลก็จะเห็นได้ว่า รัฐก็มักจะใช้อำนาจบีบบังคับให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ออกไปจากพื้นที่ โดยอ้างถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งที่ก่อนสร้าง ไม่เคยที่จะถามความเห็นของพวกเขาที่จะต้องได้รับผลกระทบว่ามีผลได้ผลเสียเช่นไร เค้าจะต้องเสียสิทธิในการทำมาหากินเช่นไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐมักจะไม่ค่อยมองเห็นถึงความสำคัญของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ผลประโยชน์ของประเทศที่มักกล่าวถึงนั้น จะเป็นผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของชาติอย่างที่อ้างหรือไม่
วิทวัส กิ่งสุวรรณ
การวางผังเมือง 507 41517 25

saochao กล่าวว่า...

การวิเคราะห์ Stakeholder ประเด็นปัญหาโครงการลุ่มน้ำปากพนัง

โครงการลุ่มน้ำปากพนัง มีพื้นที่ 1.7 ล้านไร่ หรือประมาณ 26.64 ของพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ และอ.หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึง น้ำในพื้นที่จึงเป็นการผสมผสานระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม กลายเป็นน้ำกร่อย นอกจากนี้ บางช่วงก็ยังเกิดเป็นน้ำเปรี้ยวขึ้น เกิดเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศ 4 น้ำ ซึ่งระบบ 4 น้ำนี้ ก่อให้เกิดความหลากหลายของสภาพนิเวศและอาชีพของชุมชน อาทิ ป่าจาก ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าสาคู และป่าดิบชื้นหรือป่าต้นน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์แบบธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นแอ่งอารยธรรมการผลิต ที่หลากหลายมาแต่อดีต บวกกับเป็นเมืองปากแม่น้ำ จึงกลายเป็นประตูการค้า ทำให้ลุ่มน้ำปากพนัง มีข้าวเป็นสินค้าออกหลักและเป็นปัจจัยที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่

หลังจากรัฐบาลในยุคเร่งขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกข้าว ต่อมาก็คือกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ได้รับความใส่ใจมากในยุคนั้น เนื่องจากทำรายได้สูง ซึ่งสนับสนุนโดยกรมประมง ในขณะที่การทำนาต่อมาต้องกระทบจากราคาต้นทุนที่สูงแต่ราคารับซื้อต่ำ ทำให้การเลี้ยงกุ้งขยายตัวสูง ครอบพื้นที่ทำนาเดิมในลุ่มน้ำปากพนัง แทนที่นาข้าวซึ่งไม่คุ้มทุน จนเกิดผลกระทบจากการทำนากุ้งคือ ทำให้น้ำเค็มรุกพื้นที่นาข้าว ทำให้เกิดโครงการแบ่งแยกโซนน้ำ จืด-เค็ม กั้นออกจากกันเด็ดขาด นั่นคือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังทั้งระบบ

แต่แนวคิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง ที่นำการจัดการน้ำแบบแยกน้ำเค็ม-จืดออกจากนั้นมีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบน้ำที่ต่างจากในอดีต ทำให้สภาพธรรมชาติต่างๆเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำต่างๆที่เคยมีก็หายไปจากแม่น้ำ เนื่องจากสภาพน้ำเปลี่ยน ซึ่งจากเหตุการเหล่านี้ ทำให้เกิดการรวมตัวกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ หรือคนอื่นๆในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแม่น้ำสายนี้ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างของประเด็นปัญหาที่ส่งผลต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ได้ดังนี้

1.ปัญหาความสะอาดของแม่น้ำและการกัดเซาะของชายฝั่ง เนื่องจากระบบน้ำผิดธรรมชาติซึ่งเกิดจากโครงการลุ่มน้ำปากพนัง ก่อให้เกิดน้ำตกตะกอนเน่าเสีย และท่วมในบางฤดู ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
2.ปัญหาความยากจนของชาวบ้าน หลังจากมีโครงการ เนื่องจากการกั้นน้ำทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ลดลง ผู้ที่อยู่อาศัยใน 3 อำเภอที่แม่น้ำไหลผ่าน ต่างประสบปัญหาในเรื่องการเกษตรเนื่องจากบริเวณนี้ทำการเกษตรเป็นหลัก เมื่อขาดน้ำก็มีผลให้เกิดความเสียหาย
3.ปัญหาด้านการประมง เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำลดลง เพราะสภาพน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนไปจากเดิม

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแม่น้ำสายนี้นั้น แทบจะกระทบทั้งจังหวัด เนื่องจากอ.ปากพนัง ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ เมื่อเกิดปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ถือเป็นบทเรียนได้ว่า การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ Stakeholder เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินโครงการหรือนโยบายต่างๆ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจะลงมือดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกันในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆเพื่อให้การพัฒนาก่อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย

เสาร์เช้า ช้างกลาง 507 41655 25

onaroon กล่าวว่า...

โครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กสหวิริยา อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นกรณีพิพาทยืดเยื้อ ที่ชาวบ้านและฝ่ายคัดค้านเรียกร้องมาเกือบ 2 ปี ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ ซึ่งทางบริษัทสหวิริยา ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรเป็นหลัก แต่เนื่องจากคนในพื้นที่เชื่อว่าโรงถลุงเหล็กนี้จะก่อให้เกิดมลพิษแก่พื้นที่แน่นอน โดยทางบริษัทก็ออกมาประกาศชัดว่า แต่ละขั้นตอนในการผลิตมีมาตรการในการควบคุมมลพิษอย่างเคร่งครัดรวมไปถึงการให้ข้อมูลที่มีเฉพาะด้านบวก แต่เมื่อมาฟังเสียงของฝ่ายคัดค้านก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยที่ฝ่ายคัดค้านเห็นว่า การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้เป็นการทำเฉพาะผู้มีส่วนได้เท่านั้น เนื่องจากในช่วงแรกประชาชนไม่ทราบว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้น เนื่องจากมีการปกปิดเกี่ยวกับการซื้อที่ดินทำโครงการมาโดยตลอด แต่ฝ่ายคัดค้านก็จับประเด็นเรื่องการรุกป่าพรุแม่รำพึงได้และได้เริ่มออกมาต่อต้านการสร้างโรงถลุงเหล็กนี้ เนื่องจากบริเวณผืนป่าพรุแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลอย่างมากเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้าน ชาวประมง หรืออาจจะพูดได้ว่า เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งประเทศ การสร้างโรงถลุงเหล็กครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องมีบ้านที่อยู่ติดกับโรงงานถลุงเหล็กซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษมากเป็นอันดับสองรองจากโรงถ่านหิน และถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นบริเวณนี้จริงสารพิษที่เกิดขึ้นจะซึมซับลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากเชื่อมต่อกับปากคลองแม่รำพึง จะเห็นได้ว่าผลกระทบครั้งนี้ที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ชาวบ้าน ชาวประมงจะไม่ได้รับผลกระทบได้อย่างไร ภาครัฐควรที่จะเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เพราะจะเห็นได้ว่าชาวบ้านเป็นผู้ที่ได้รับส่วนเสียเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านได้ประโยชน์อะไรจากการสร้างโรงงานแห่งนี้ ประโยชน์ที่ได้น่าจะเกิดแก่นายทุนเพียงฝ่ายเดียว หรือรัฐเป็นฝ่ายเดียวกับนายทุนไปเสียแล้ว

อรอรุณ สิทธิ 5074167825

wanchai กล่าวว่า...

การวิเคราะห์ Stakeholder ประเด็นปัญหาปัญหาพื้นที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

การวิเคราะห์ผู้มีส่วนร่วมสำคัญเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำความเข้าใจกับระบบและองค์ประกอบในการวางแผน และวิเคราะห์ให้เห็นรายชื่อของบุคคลหรืองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียและมีอิทธิพลต่อกระบวนการวางแผน เป็นองค์ประกอบหลักของการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการวางแผน การวิเคราะห์นี้ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่านโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาสามารถกำหนดได้ ในบริบททางสังคมที่มีความสมพันธ์ทางอำนาจที่ซับซ้อนและความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจึงต้องเกิดการประเมินและเจรจาต่อรองกันระหว่างแต่ละฝ่ายในสังคม โดยมีการสร้างความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม

ประเด็นปัญหาที่สำคัญของพื้นที่นี้คือการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเติบโตอย่างไร้ทิศทาง เนื่องจากพื้นที่อำเภอเขาย้อยเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมในจังหวัดราชบุรี ทำให้เกิดการใช้พื้นที่ปะปนกันระหว่างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นการวิเคราะห์หา Stakeholder ในพื้นที่นี้จะช่วยทำให้นำผู้มีส่วนร่วมสำคัญทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศบาลตำบลเขาย้อย นายกอบต.เขาย้อย ผังเมืองทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการโรงงาน นายทุนต่างๆ และผู้มีส่วนร่วมสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลย คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่อำเภอเขาย้อยซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาปะปนอยู่ในพื้นที่ ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นที่ใดหากเทียบบันได้ 8 ขั้นของการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเห็นได้ว่าจะอยู่ขั้นของการรับรู้ข่าวสารจากทางภาครัฐเท่านั้นไม่ได้มีสิทธิในการกำหนดแผนร่วมกับภาครัฐแต่อย่างใด ทำให้มักเกิดปัญหาตามมามากมายระหว่างรัฐ นายทุน และประชาชนเจ้าของพื้นที่เดิม

การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ถูกต้องมิเช่นนั้นจะทำให้การเจรจาต่อรองในเรื่องนั้นๆ ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงโครงสร้างทางอำนาจในพื้นที่นั้นๆ ด้วยว่าใครเป็นผู้มีอิทธิพลในแง่ของการเป็นผู้มีอำนาจทางกฎหมาย ผู้มีความเป็นผู้นำหรือผู้นำชุมชนที่แท้จริงเพื่อให้การตั้งโต๊ะเจรจาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

วันชัย ศักดิ์พงศธร รหัส 507 41500 25

Sorasak C. กล่าวว่า...

วิเคราะห์ Stakeholder ในประเด็นปัญหาประเด็นใดประเด็นหนึ่งในพื้นที่จังหวัดตรัง

Stakeholder หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ กลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้มีสิทธิเรียกร้อง เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในการแลกเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างต่อกัน
ซึ่งมีประเภทของความเกี่ยวข้องกันทั้งด้านผลประโยชน์ สิทธิและความเป็นเจ้าของ ความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจจะมีความหลากหลายและมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางครั้งอาจขัดกับแนวทางปฏิบัติหรือเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ

ห้างค้าปลีกข้ามชาติ ปัจจุบันเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดผลกระทบต่อคนในพื้นที่มาก จังหวัดตรังก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาเหล่านี้ เพราะการเข้ามาของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่นี้ ส่งผลให้กลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อยในจังหวัดกังวลถึงผลกระทบ เพราะอาจส่งผลต่อการค้าของคนในพื้นที่ จนทำให้เกิดการต่อต้านการเข้ามาในจังหวัดตรัง เพราะเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีสาขาของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และปัจจุบันได้มีการปรับเกณฑ์ โดยอนุญาตการย่นระยะให้เข้ามาใกล้ตัวเมืองเหลือ 2 กิโลเมตร รวมทั้งการขยายพื้นที่ค้าปลีกในตัวเมืองเพิ่มเป็น 3,000 ตารางเมตร ซึ่งมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับค้าปลีกยักษ์ข้ามชาติ จนทำให้ผู้ค้ารายย่อยเกิดการต่อต้านมากขึ้น เพราะมีผลกระทบต่อตนเองโดยตรง

แต่การเข้ามาของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในจังหวัดตรัง ได้มาตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สีเหลือง ซึ่งคือพื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย แต่ติดกับพื้นที่สีส้มและอยู่บนเส้นทางการคมนาคมสายหลักนั้น ทำให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อย ที่แม้จะต่อต้านห้างค้าปลีกรายใหญ่ แต่จากหลักกฎหมายของไทย กลับไม่มีสิทธิในการเรียกร้องใดๆเลย เพราะไม่ได้มีพื้นที่ติดกันกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่นั้นๆ ตรงข้ามกับผู้ที่มีพื้นที่ติดกับห้างเหล่านี้กลับได้รับผลประโยชน์จากราคาที่ดินที่สูงขึ้น ก็ได้สนับสนุนการเข้ามาของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ทำให้ปัจจุบันจังหวัดตรังมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย จนทำให้เชื่อว่าอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนจนยากต่อการแก้ไขในอนาคตได้

สรศักดิ์ ชิตชลธาร
5074156925