วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ประเด็นอะไรที่นิสิตสนใจในงานของเตช

การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435 - 2458

17 ความคิดเห็น:

prasong กล่าวว่า...

"ประเด็นอะไรที่นิสิตสนใจในงานของเตช"

โดย ประสงค์ จารุรัตนพงศ์
5074127725


การที่จะเรียนรู้ถึงการวางแผนพัฒนานั้น เรื่องราวที่ควรจะทำความเข้าใจ คือ ความเป็นมาของกลุ่มองค์กรที่มีอำนาจในการชี้นำการพัฒนา สำหรับในประเทศไทยองค์ที่มีอำนาจในการชี้นำการพัฒนานั้นก็คือ องค์กรการปกครอง การที่จะเรียนรู้ถึงความเป็นมาและการเจริญเติบโตของการปกครองไทย สามารถศึกษาจากงานวิทยานิพนธ์ของ อาจารย์เตช บุนนาค ซึ่งได้อธิบายถึงพัฒนาการของการเกิดระบบเทศาภิบาล หรือการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ที่ได้มีการเริ่มต้นการปฏิรูปการปกครองจากระบอบแบบเก่ามาเป็นระบบเทศาภิบาล เพื่อเสริมสร้างอำนาจให้พระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น มีการปกครองอย่างเป็นระบบ มีระบบสายขั้นการบังคับบัญชา และเป็นการขจัดซึ่งอิทธิพลของขุนนางเก่าผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นด้วยระบบข้าราชการที่แต่งตั้งไปจากส่วนกลาง โดยมีผู้นำที่สำคัญสองท่านคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

จากผลแห่งการปฏิรูปครั้งนั้น ยังผลถึงพัฒนาการการปกครองของประเทศ รัฐบาลสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับประชาในทุกระดับ สามารถเพิ่มรายได้ของรัฐได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศท่ามกลางจักรวรรดินิยมจากชาติตะวันตก คือ การรักษาความปลอดภัยภายใน การสร้างเอกภาพให้กับประเทศ การกำหนดอาณาเขตพระราชอาณาจักรได้ชัดเจน มีระบบการปกครองที่เป็นที่ยอมรับของอาณาอารยประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครอง “รัฐในอารักขา” ของประเทศตะวันตก

ในการศึกษาการปกครองของประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในยุคนั้น ว่าคนในยุคก่อนสามารถเอาชนะมหาอำนาจตะวันตกได้อย่างไรบ้าง อีกทั้งการจัดการกับกลุ่มผลประโยชน์ภายในประเทศเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับระบบที่สั่งสมมาเป็นร้อยปี ทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การปฏิรูปครั้งนี้ได้มีการวางแผนไว้อย่างเป็นขั้นตอนและกำหนดกรอบระยะเวลาไว้อย่างไร เพราะการปฏิรูปครั้งนี้ กว่าจะมีระบบที่เต็มรูปแบบ สามารถรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง จะต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายสิบปี ใน 2 รัชกาล จากการวางแผนของผู้นำการปฏิรูปนี้ ผู้เสียผลประโยชน์จะเข้าใจ และรู้ซึ่งถึงแผนการของผู้นำหรือไม่ แน่นอนว่าถ้ากลุ่มคนดังกล่าวได้รู้แผนการย่อมหาทางป้องกัน และอาจสร้างภาวะที่ไม่ปลอดภัยให้แก่พระราชอาณาจักรซึ่งแผนการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นไปในลักษณะที่ปกปิดรู้กันเพียงภายในของกลุ่มผู้นำในการปฏิรูปเท่านั้น หรือการปฏิรูปนี้อาจไม่ได้มีการวางแผนไว้เลย เป็นแต่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปที่ละส่วนเท่านั้น

ประเด็นที่สนใจอีกข้อหนึ่ง คือ การสร้างสถาบันข้าราชการในการปกครองให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ให้มาแทนที่ขุนนางที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นเดิมที่มาจากเจ้าเมือง หรือกษัตริย์ในเมืองประเทศราช ให้มีอำนาจทั้งในการปกครอง จัดเก็บรายได้เข้ารัฐ การรักษาซึ่งความยุติธรรมของระบบศาล และบำบัดทุกข์บำรุงสุข ซึ่งอาจเป็นการรักษาผลประโยชน์สาธารณะเพื่อการแย่งชิงมวลชนจากกลุ่มอำนาจเดิม

ประเด็นที่ได้ยกมานี้เป็นประเด็นที่ข้าพเจ้าสนใจ ซึ่งถ้าได้อธิบายให้เข้าใจแล้ว จะทำให้เห็นถึงภาพการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ ที่ยังผลถึงระบบการปกครองที่ยังมีผลอยู่จนถึงปัจจุบัน

Damrong Siammai กล่าวว่า...

ประเด็นอะไรที่ท่านสนใจงานของเตซ บุนนาค

จากการศึกษางานของเตซ บุนนาค เรื่อง การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2535-2558 คือ 1)ประสิทธิภาพการการบริหารราชการแผ่นดินตามระบบเทศาภิบาล และ 2)ผลกระทบจากการปกครองแบบเทศาภิบาลจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความเห็นในแต่ละประเด็นโดยย่อดังนี้
กรมพระยาดำรงราชานุภาพในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนแปลงและปฏิรูปการปกครองจากระบบหัวเมืองและประเทศราชในช่วงปี พ.ศ. 2533-2558 มาสู่ระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน) เพื่อรวมศูนย์การปกครองท้องถิ่นมาสู่สวนกลาง ตลอดช่วงของการทำงาน กรมพระยาดำรงฯ เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว จะขอกล่าวถึงจุดเด่นที่เห็นชัดคือการสามารถรวมชาติสยามเป็นปึกแผ่น สร้างระบบการปกครองที่เข้มแข็งให้ประเทศสยามในขอบเขตประเทศที่ชัดเจนหลังการทำสัญญากับจักรวรรษนิยมอังกฤษ-ฝรั่งเศษ การลดทอนอำนาจของข้าราชการท้องถิ่นที่ขาดประสิทธิภาพแทนที่ด้วยข้าราชการส่วนกลางซึ่งมีศักยภาพ รูปแบบการปกครองดังกล่าวมีประสิทธิภาพ มีเอกภาพในการสั่งการ การเก็บภาษีเข้ารัฐได้ตามเป้าหมาย การตรวจสอบการบริหารราชการจากส่วนกลางและท้องถิ่น ราษฎรมีส่วนร่วมในทางการเมืองคือการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านมาเป็นเจ้าหน้าทีปกครองระดับหมู่บ้าน ซึ่งสะท้อนความทันสมัยและความก้าวหน้าด้านการปกครองของสยามประเทศในสมัยนั้น
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองระบบเทศาภิบาลมาถึงปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเทศาภิบาลได้สร้างคณูปการให้กับประเทศสยามดังที่กล่าวข้างต้น แต่ในมุมหนึ่งระบบเทศาภิบาลได้ส่งผลต่ออัตราเร่งของการพัฒนาประเทศในระดับถดถอยเมื่อมาถึงยุดโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ในปัจจุบัน เพราะระบบการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง ต้องใช้การสั่งการจากส่วนกลางทั้งในแง่บุคลากร แนวทางดำเนินงาน และงบประมาณ ทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาประเทศ เกิดระบบชนชั้นระหว่างชนชั้นปกครองและสามัญชน เกิดระบบอุปถัมภ์ การคอรัปชั่น การแบ่งพรรคแบ่งพวค และที่สำคัญคือการใช้อำนาจการปกครองในทางที่ผิด แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในบางพื้นที่ จึงจะเห็นว่าปัญหาการปกครองในปัจจุบันคือผลผลิตจากระบบเทศาภิบาลในอดีต เรื่องนี้ไม่ผิดครับที่กรมพระยาดำรงฯ ได้สร้างไว้ในสมัยนั้น หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือระบบการปกครองแบบหนึ่ง จะมีความเหมาะสมกับพื้นที่/ประเทศนั้นในช่วงระหว่างหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อระบบ (เทศาภิบาล) ผ่านการใช้งานตามระยะเวลาในช่วงต่างๆ เมื่อสถานการณ์การเมืองระดับภูมิภาคและระดับโลกเปลี่ยนแปลง จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการปกครองรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางควรจะได้รับการปรับปรุง สังเคราะห์บทเรียนและประสบการณ์ และนำมาพัฒนาระบบการปกครองปัจจุบันให้เหมาะสมการสการณ์โลกที่เปลี่ยนไป เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศสยามของเรา

โดย นายดำรง เสียมไหม
5074410225

ปรัญญู กล่าวว่า...

ประเด็นที่น่าสนใจจากการอ่านหนังสือเรื่องการปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม คือ ข้อดีของการปกครองที่รวมศูนย์กลางไว้ส่วนกลางจะเป็นการค่อยๆปรับเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนาในเชิงการกระจายอำนาจซึ่งในสมัยนั้นคงไม่ได้มองส่วนนี้มากนัก การรวมศูนย์กลางอำนาจจากเดิมที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้รวมอำนาจทั้งหมดอาจจะยังไม่เข้มแข็งพอที่จะดำเนินการบริหารไว้ได้ จึงต้องเริ่มแบ่งการกระจายอำนาจให้กว้างขวางกว่าเดิม ทั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือและใต้ ก่อนที่จะมีการพัฒนาการกระจายอำนาจให้หยั่งลึกลงไปมากกว่าเดิมเพื่อการบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีการปรับเปลี่ยนลดทอนอำนาจในระบบขุนนางลงมิให้ครองอำนาจมากจนเกินไป ซึ่งส่งผลดีในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันได้ ( ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังคงมีระบบขุนนางแทรกแซงอยู่ก็ตาม การปกครองในระบบเทศาภิบาลหรือระบบศักดินายังคงมีส่วนสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ยังคงหยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของคนชนชั้นสูงอยู่ ) หลังจากที่มีการแบ่งการปกครองในลักษณะของภาคส่วนจนถึงจังหวัดจะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการการปกครองที่เริ่มชัดเจน มีการแบ่งดินแดนในส่วนต่างๆ หากเปรียบได้ปัจจุบันการปกครองในลักษณะนี้จะคล้ายกับการปกครองในแบบเขตเทศบาล
มีอีกประเด็นหนึ่งที่สนใจในส่วนของการกระจายอำนาจ ในบางครั้งก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าการกระจายอำนาจที่มากเกินไปจะส่งผลในการบริหารงานมากน้อยแค่ไหน เพราะหากมองในอีกแง่มุมหนึ่งแล้วส่งผลให้เกิดการบริหารที่ทับซ้อนกัน การที่ปกครองทับซ้อนเป็นส่วนที่ส่งผลต่อการปกครองในเชิงบริหาร หากไม่มีการจัดการที่ดีจะเกิดการขัดผลประโยชน์กันได้ ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นจะมีการยุบกรมต่างๆ แต่การยุบหรือลดทอนอำนาจลงก็อาจจะส่งผลเสีย ถึงความไม่พอใจในระบบก็ได้ แต่ผลดีของการมีระบบข้าราชการคือมีปรับเปลี่ยนหมุนเวียน ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านความสามารถในตัวบุคคลมากกว่าอำนาจและชื่อเสียง ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ดีเท่าไหร่นักในปัจจุบัน แต่อาจจะดีกว่าการสืบทอดอำนาจทางสายสกุลที่ไม่ได้คัดเลือกบุคคลตามความสามารถเท่าไหร่นัก

ปรัญญู เฟื่องเพียร 5074128325

onaroon กล่าวว่า...

จากการที่ได้อ่านหนังสือ การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458 ของ เตช บุนนาค เบื้องต้นทำให้ข้าพเจ้าได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบการปกครองของไทยในสมัยก่อน โดยที่ข้าพเจ้ามีความสนใจประเด็นเรื่องของการก่อตั้งกระทรวงมหาดไทย โดยที่มีการยุบกระทรวง และการโอนกรมกองต่างๆ โดยกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งมิได้ทำอย่างราบรื่นนัก มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แต่รัฐบาลก็มิได้ใส่ใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในช่วงปี 2435-2442 เช่น การแก้ไขการบริหารส่วนกลางของกระทรวงเพื่อรองรับกับกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น การตัดกรมต่างๆที่มีงานอันไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่นออกไป การบริหารส่วนกลางก็ได้แบ่งออกเป็นกรมต่างๆ ตามหลักการจำแนกหน้าที่ มีการปรับปรุงในส่วนของบุคลากร คือให้มาทำงานตามเวลา แตกต่างจากการทำงานในสมัยก่อน มีการเลื่อนตำแหน่งโดยการสอบ ทำให้ข้าราชการผู้น้อยก็สามารถมีตำแหน่งสูงขึ้นได้ หากมีความสามารถ และมีการพยายามจะจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นแบบโยงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เมื่อเห็นความพยายามของกรมพระยาดำรงฯ ในการปรับเปลี่ยนระบบการปกครองในสมัยก่อน ทำให้ข้าพเจ้าสนใจในประเด็นนี้เพราะว่า เมื่อมองการปกครองของไทยในปัจจุบันนั้นทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าควรมีการปรับปรุงเหมือนครั้งที่กรมพระยาดำรงฯทำหรือไม่ เพราะปัจจุบันก็มีบ้างกระทรวงที่ข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีความจำเป็นมากนักที่ต้องแยกตัวออกมา รวมถึงการเลื่อนตำแหน่งของบุคลากรที่ปัจจุบันมีการใช้เส้นสายมากกว่าความสามารถ
อีกประเด็นหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีความสนใจคือ ในพ.ศ. 2439 กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มมีการจัดการกับงานปกครองด้านอื่นๆ คือมีตั้งกรมย่อยๆสี่กรมได้แก่ กรมป่าไม้ กรมแร่ กรมตำรวจ และกรมสรรพากร ซึ่งตอนนั้นผู้อำนวยการของกรมเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นชาวต่างชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่า จะขจัดความขัดแย้งระหว่างเจ้าในท้องถิ่นและผู้ได้รับสัมปทาน รวมถึงการดำเนินเกี่ยวกับผู้ได้รับสัมปทานง่ายขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ก็คือชาวต่างชาติ ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงสภาพในปัจจุบันของประเทศไทยที่มีผู้มีอำนาจบางกลุ่มพยายามจะให้ชาวต่างชาติ เข้ามาลงทุนในกิจการที่สำคัญๆ มันมีเหตุผลที่สมควรจริงหรือไม่ที่ต้องทำเช่นนั้น

อรอรุณ สิทธิ 5074167825

pattamaporn.w กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
pattamaporn.w กล่าวว่า...

ประเด็นแรกที่สนใจในหนังสือเล่มนี้ คือ การปรับปรุงส่วนกลางให้ทันสมัย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ อันได้แก่ การจัดแบ่งงานเพื่อที่ว่าแต่ละกระทรวงจะได้รับผิดชอบแต่เฉพาะงานที่ตนสามารถกระทำได้ และการเลิกระบบที่ทุกกระทรวงเก็บภาษีเองโดยที่ไม่ได้ทำบัญชีรับจ่าย ซึ่งจากการปฏิรูปในครั้งนี้ส่งผลให้การทำงานขององค์กรส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันตนเองให้พ้นจากการรุกรานของฝรั่งเศสและจักรภพอังกฤษได้
นอกจากนี้จากการเกิดปัญหาต่างๆขึ้นในหัวเมืองขึ้นหลายๆแห่งซึ่งถือเป็นจุดอ่อนในการปกครองท้องถิ่น ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงกิจการต่างๆของหัวเมืองเหล่านั้นเพื่อป้องกันประเทศ ทั้งนี้การป้องกันประเทศจะประสบความสำเร็จได้ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งจึงอยู่ที่การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นนั่นเอง
ดังนั้นการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเพราะการปฏิรูปการปกครองทั้งสองส่วนนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาเอกราชของไทยในยุคแสวงหาอาณานิคมของยุโรป

ผู้ส่ง นางสาวปัทมพร วงศ์วิริยะ
5074129025

Chayanee กล่าวว่า...

ประเด็นแรกที่สนใจจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ กระบวนการในการปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ที่ใช้ระยะเวลานาน เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำไปทีละส่วน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด เช่น การลดบทบาทของขุนนางในระบบศักดินา การยกเลิกระบบทาส แสดงให้เห็นว่าในการที่จะปฏิรูปการปกครอง ระบบราชการ หรือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ให้ได้ผลนั้นต้องใช้ระยะเวลา และควรทำการเปลี่ยนแปลงไปทีละส่วน ไม่ได้ทำโดยทันทีทันใด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความแตกแยก หรือ ความขัดแย้งขึ้นได้


ประเด็นที่สนใจต่อมาคือ การปกครองในลักษณะมณฑลที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่แบ่งประเทศออกเป็นภูมิภาค อนุภาค หรือ มณฑล ต่างๆ แต่ได้มีการยกเลิกระบบนี้ในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งระบบมณฑลนี้อาจเป็นลักษณะหนึ่งในการวางแผนภาคที่อาจจะทำให้การวางแผนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าระบบดังกล่าวนี้ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ศาสตร์การวางแผนภาค หรือวางผังเมืองของไทยอาจจะมีการพัฒนาและ ประสบผลสำเร็จ แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้


ชญาณี จริงจิตร 5074111625

Unknown กล่าวว่า...

ในสมัยก่อนประเทศไทยหรือประเทศสยามได้มีการปกครองในรูปแบบที่แตกต่างกับปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจากการปกครองในสมัยก่อนนั้นมีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคแบบหลวมๆ โดยปราศจากเส้นเขตแดนที่ชัดเจน มีลักษณะต่างพื้นที่ต่างบริหารจัดการกันเอง พื้นที่ก็กว้างขวางการคมนาคมติดต่อสื่อสารทำได้ลำบากเพราะยังไม่มีถนน การติดต่อกันทำได้โดยเดินทางเรือและทางบกก็ใช้เกวียน โดยทางทฤษฎีการปกครองและการบริหารมีกฎเกณฑ์วางไว้อย่างเป็นระบบ แต่ในทางปฏิบัตินั้นมีบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามทฤษฎีคือพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมกระทรวงที่สำคัญ เพราะอยู่ในการบริหารของคณะบดี จึงทำให้อ่อนแอทางการเมือง สูญเสียอำนาจในการอุปถัมภ์ค้ำจุนสามัญชนโดยตรง จนกระทั่งปีพ.ศ.2435 จึงเป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิรูปอย่างแข็งขันที่สุด โดยร.5ได้แต่งตั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพมารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงฝ่ายเหนือต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงมหาดไทย และได้คิดให้มีการวางรากฐานการปกครองจังหวัดต่างๆ โดยโยงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ระบบเทศาภิบาล ปรับปรุงอาณาจักรสยามแบบดั้งเดิมทั้งทางด้านสังคม ภาษีรายได้ของแผ่นดินและการศาล พลังกดดันที่ทำให้เกิดการปฏิรูปคือการที่ร.5ทรงผิดหวังในเรื่องที่พระมหากษัตริย์ขาดพระราชอำนาจและรัฐบาลไม่มีความสามารถที่จะคุ้มครองบูรณภาพเหนือดินแดนของราชอาณาจักรเพื่อให้พ้นจากการรุกล้ำของอภิมหาอำนาจฝรั่งเศส และจักรภพอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การปฏิรูปกระทำได้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากรัฐบาลยากจน ขาดประสิทธิภาพ ( สาเหตุมาจากการปกครองอยู่ในมือของกลุ่มบุคคลและใช้อำนาจทรัพยากรของชาติ ) การแก้ไขเริ่มขึ้นโดยยกเลิกการผูกขาดอำนาจของกลุ่มบุคคลเก่า สร้างข้าราชบริพารฝ่ายการเมืองที่เข้มแข็งและกองทัพที่มีอำนาจ สนับสนุนพวกรู้จริงและหัวก้าวหน้า แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ในหลายรูปแบบทำให้ต้องใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ในการจัดการเพื่อให้บรรลุผล รวมทั้งต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงนานพอสมควร โดยมี 5 ขั้นตอนในการโยงอำนาจการปกครองท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดีการปฏิรูปการปกครองย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสถานการณ์บ้านเมืองด้วย แม้จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ตาม ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาไปมากแล้ว แต่ประเทศชาติไม่เจริญได้เพราะยังมีข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงอยู่อีกพอสมควร ต้องมีวิธีจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป

ผู้ส่ง : นางสาวธัญมน สินชัยกิจ นิสิตปริญญาโท สาขาการวางผังเมือง รหัส 507 41168 25

tapanee กล่าวว่า...

ประเด็นที่สนใจในผลงานนี้ คือ การรวมประเทศราชและหัวเมืองชั้นนอก เข้าสู่ระบบ “เทศาภิบาล” ซึ่งการที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงระมัดระวังในการใช้มาตรการรวมประเทศราชและหัวเมืองชั้นนอก เพราะเกรงว่าจะทำให้กลายเป็นปรปักษ์กับฝรั่งเศสและจักรภพอังกฤษ ซึ่งทรงไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสคิดว่าทางกระทรวงฯ กำลังใช้การปฎิรูปการปกครองเป็นเสมือนวิธีการทางอ้อมในการแสดงสิทธิการปกครองทางการเมืองเหนือส่วนต่างๆ ของประเทศราชและหัวเมืองชั้นนอก และไม่ปรารถนาที่จะแสดงว่ากำลังพยายามที่จะดักหน้าการแทรกแซงของอังกฤษในประเทศราชทางภาคใต้ ตามที่ทรงกล่าวไว้ว่า “ต้องปลูกมิตรและสร้างบุญคุณให้จักรภพอังกฤษ เพื่อที่ว่าอังกฤษอาจจะช่วยคุ้มครอง (สยาม)ให้พ้นจากฝรั่งเศส และจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ซึ่งอาจจะเป็นการยั่วยุให้เกิดความเป็นปรปักษ์จากอังกฤษ” รวมทั้งประเด็นจากปัญหาการปกครองภายในสยามที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ในการขัดขวางจากการปกครองท้องถิ่นไม่ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการหวงแหนอิสระในการปกครองตนเองของข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมือง
ประเด็นนี้ เป็นที่น่าสนใจ เนื่องจาก ระบบการเมืองการปกครองในไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด จะอดีตหรือปัจจุบัน จำเป็นต้องมีมาตรการที่แยบคายรอบคอบในวางแผนการบริหารการปกครอง ไม่ให้เกิดความกระทบกระเทือนและความขัดแย้ง ไม่ว่าจะต่อประเทศมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้นำในประเทศราช หัวเมืองชั้นนอก และแม้แต่ประชาชนเอง ในปัจจุบันมีปัจจัยมากมายที่ทำให้การปกครองบ้านเมืองมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกประเด็น

โดย นางสาว ฐปณี รัตนถาวร
รหัส 5074403925

saochao กล่าวว่า...

จากการที่ได้อ่านหนังสือ “การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458” ของ เตช บุนนาค พบประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการบริหารประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งที่เห็นได้ชัดในหนังสือเล่มนี้ก็คือ การปฎิรูปกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการเลือกคนเข้าทำงานในด้านต่างๆตามความเหมาะสมโดยไม่ยึดติดกับระบบในอดีต เห็นได้จากการที่ท่านทรงแต่งตั้งกรมหลวงดำรงราชานุภาพ(พระยศในขณะนั้น) ขึ้นเป็นเสนาบดีคนใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุไม่ถึง 30 ชันษา เนื่องจากทรงเล็งเห็นถึงพระปรีชาสามารถในฐานะนักปกครองของกรมหลวงดำรงฯ และพระองค์ยังทรงเป็นนักเจรจาที่ชาญฉลาด เห็นได้จากที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมถึงเหตุผลที่ทรงแต่งตั้งกรมหลวงดำรงฯ เพราะทรงเล็งเห็นว่าการที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอที่มีพระชนมายุน้อยขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า อาจจะเกิดปัญหาได้

นอกจากนี้ ยังมีความประทับใจในตัวกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เนื่องจากเมื่อได้ทราบถึงประวัติบางส่วนบางตอนของพระองค์ ทำให้เกิดความชื่นชมถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ ที่สามารถทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระทัยให้รับผิดชอบกระทรวงที่สำคัญของประเทศ แม้ว่าจะมีพระชนมายุน้อยกว่าพระอนุชาองค์อื่นๆ และพระปรีชาสามารถในการวางแผนบริหารประเทศ นำพาประเทศให้ไปสู่การพัฒนาเทียบเท่าชาติตะวันตกได้

เสาร์เช้า ช้างกลาง
5074165525

Pongpol กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Pongpol กล่าวว่า...

ประเด็นที่ข้าพเจ้าสนใจในหนังสือ การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม ของเตช บุนนาคนั้น คือการเล่าเรื่องราว และประวัติความเป็นมาของการปกครองของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจและสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งมีการค้นคว้าข้อมูลไว้อย่างละเอียดรอบคอบและเชื่อถือได้ อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนไทยในอดีตที่ได้พยายามอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาระบบการปกครองของประเทศ และพาประเทศให้พ้นภัยจากการการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก การเล่าที่ใครคนใดจะสามารถเล่าเรื่องราวและประวัติการปกครองของไทยได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนขนาดนี้นั้น นอกจากจะต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้วยังต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดให้ชนยุคปัจจุบันเข้าใจถึงความรู้สึกในการคิด และกระบวนการตัดสินใจของคนในยุคนั้นซึ่งถือเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดของผลงานชิ้นนี้

ทั้งนี้ การคาดการณ์อนาคตจากการศึกษาเรื่องราวความเป็นมาในอดีตนั้น ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากอดีตเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดปัจจุบัน อีกทั้งการวางแผนการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบราชการ หรือการพัฒนาระบบการปกครองนั้นหากมีข้อมูลที่ถูกต้องมากและลึกเท่าใดก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทราบถึงรากเหง้าหรือที่มาของปัญหาอย่างถ่องแท้แล้ว จะทำให้สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาได้อย่างตรงจุด ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ที่ได้มีการเล่าเรื่องราวระบบการปกครองของไทยไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนนั้น ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการพัฒนาระบบราชการ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อข้าราชการทุกกระทรวงเพื่อจะได้ทราบและเข้าใจที่มาของระบบการปกครอง และระบบการบริหารราชการของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการกระทรวงมหาดไทยควรจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง

โดย นายปองพล ทองสมจิตร
รหัสนิสิต 507 44045 25

wanchai กล่าวว่า...

ประเด็นที่น่าสนใจในงานเขียนของเตช บุนนาคในมุมมองของผมคือการกล่าวถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบการปกครองแบบศักดินาที่หัวเมืองต่างๆ ปกครองโดยขุนนางเปลี่ยนมาใช้การปกครองแบบมีข้าราชการเป็นผู้ปกครอง โดยประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การค่อยลดบทบาทหรืออำนาจของเจ้าเมืองต่างๆ ลงโดยค่อยๆ มีการแต่งตั้งข้าราชการซึ่งผลิตออกมาโดยโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งถูกส่งไปประจำหัวเมืองต่างๆ ให้มีหน้าที่ดูแลเมืองโดยอาศัยกินเงินเดือนจากส่วนกลาง เป็นที่มาของการกำเนิดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นแบบแผนที่สำคัญในระบบการปกครองจนถึงปัจจุบันนี้
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือการเกิดมณฑลซึ่งเป็นการแบ่งการปกครองที่น่าสนใจคือเป็นการรวมหัวเมืองโดยแบ่งตามลักษณะภูมิประเทศหรือพื้นที่ที่มีความใกล้เคียงกันซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ในการวางแผนภาคแต่ถูกยกเลิกไปในรัชกาลที่ 6 ซึ่งบางทีการปรับเปลี่ยนจากจังหวัดในปัจจุบันกลับมาเป็นมณฑลอีกครั้งดังเช่นในอดีตอาจทำให้การวางผังภาคเกิดผลสำเร็จได้ดีกว่าการแบ่งเป็นจังหวัดก็ได้
..............................
วันชัย ศักดิ์พงศธร รหัส 507 41500 25

vittawat กล่าวว่า...

ประเด็นที่สนใจจากหนังสือเรื่อง “การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458” ของ เตช บุนนาค ก็มีความน่าสนใจในเรื่องของการผูกขาดอำนาจด้วยทรัพย์สินเงินทอง เพราะเหมือนกับในสมัยนั้น ผู้ที่มีเงินทองมากมาย ก็คือผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรกับสมัยนี้เลย โดยในหนังสือได้กล่าวถึงคนในสกุลบุนนาคได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบุรี ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็สามารถที่จะนำพาตนเองเข้าไปสู่อำนาจทางการเมือง จนนำไปสู่การผูกขาดการเก็บภาษีที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรีได้ จึงจะเห็นได้ว่าปัจจัยทางด้านการเงินนี้ก็ส่งผลต่อการปกครองตั้งแต่สมัยอดีต
ประเด็นที่สองเห็นว่าการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหาทางแก้ไขในเรื่องของการปกครอง ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเหล่าบรรดาข้าราชการ หรือผู้มีอำนาจอื่นมักจะใช้อำนาจของตนในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการทุจริต การยักยอกเงินหลวง หรือกระทั่งเรื่องการศาล เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีผลทำให้พระราชอำนาจเสื่อมถอยลงได้ อีกทั้ง การถูกยักยอกภาษีอากร ก็จะทำให้อำนาจของพระมหากษัตริย์ถดถอยลงอีกด้วย โดยก็จะเห็นได้ว่า ปัจจัยทางด้านการเงิน ก็จะมีผลต่อทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการปกครองประเทศ หรือการปกครองหัวเมือง
วิทวัส กิ่งสุวรรณ 507 41517 25

uthai กล่าวว่า...

จากการได้อ่านผลงานของท่านอาจารย์เตช บุญนาค “เรื่องการปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458 “ ทำให้เข้าใจว่าในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี ท่านทรงเข้ามามีบทบาทในการปรับปรุงสยามประเทศให้ทันสมัย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประเด็นแรก คือการที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเห็นช่องว่างของการบริหารท้องถิ่นระหว่างรัฐบาลกลาง กับการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งท่านมองว่าเจ้าเมืองทั้งหลายประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ทำให้ขั้นตอนทางกฎหมายยืดเยื้อ เพื่อจะได้ค่าธรรมเนียมศาลและการเก็บเงินของรัฐบาลกลางไว้เป็นของตนเองให้มากที่สุด และมองว่าข้าราชการในระบอบการปกครองท้องถิ่นแบบเก่ามีคุณภาพไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้เองทำให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงริเริ่มการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ โดยการกำหนดโครงสร้างการบังคับบัญชาที่โยงเข้าสู่ส่วนกลางไว้เหนือการปกครองท้องถิ่นแบบโบราณ เปลี่ยนสภาพขุนนางมาเป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือน โอนกิจการศาลและการคลังของหัวเมืองต่าง ๆ มาเป็นของชาติ และรัฐบาลต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในระดับล่างของทุกงานปกครองท้องถิ่น หรือถ้าในปัจจุบันคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองนั่นเอง

ประเด็นที่สองคือ การที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงให้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดรูปแบบการจัดระเบียบการปกครองของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยในเดือน พ.ค.2440 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดระเบียบการปกครองของหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ควบคุมดูแลหมู่บ้าน กำนัน เป็นผู้ควบคุมดูแลตำบล และนายอำเภอ เป็นผู้ควบคุมดูแลอำเภอ ต่อมาในเดือน ก.พ.2442 กระทรวงมหาดไทย ได้ออก “ข้อบังคับปกครองหัวเมือง” โดยแต่งตั้งเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้ดูแลจังหวัด เป็นการโยงท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งคือระบบ “เทศาภิบาล” ของการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
โดย : นายอุทัย ชาติเผือก 5074171225 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง

Unknown กล่าวว่า...

"ประเด็นอะไรที่นิสิตสนใจในงานของเตช"
ในงานของอาจารย์เตช บุนนาค นั้นได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบศักดินามาเป็นระบบเทศาภิบาล โดยได้กล่าวถึงพัฒนาการต่างๆ ที่มีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากระบอบศักดินามาเป็นระบบข้าราชการ ซึ่งในระบอบศักดินานั้น รัฐไม่ได้มีอำนาจเต็มในการปกครองหัวเมืองส่วนต่างๆ ทำให้สถานะทางการเมืองไม่มั่นคงประกอบเหตุการณ์ในยุคล่าอาณานิคมที่มีกรณีพิพาทกับประเทศฝรั่งเศสทำให้มีพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบบเทศาภิบาลเพื่อให้รัฐมีอำนาจในการปกครองอย่างทั่วถึง
โดยประเด็นในการเปลี่ยนระบอบการปกครองนั้นอยู่ที่การลดอำนาจของขุนนางในระบอบศักดินา โดยเริ่มจากการสร้างสถานศึกษาเพื่อสร้างข้าราชการที่จะเข้าทำงานในกระทรวงต่างๆ ทดแทนขุนนางที่กำลังจะเสื่อมอำนาจไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความละเอียดอ่อนและใช้ระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลให้เป็นการกระจายสิทธิให้กับประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าทำงานเป็นข้าราชการและมีโอกาสที่จะเลื่อนตำแหน่ง แตกต่างจากในอดีตที่ตระกูลขุนนางจะผูกขาดอำนาจ
นาย อรรฆพล ห่อมณี 5074166125 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง

Sorasak C. กล่าวว่า...

ประเด็นอะไรที่สนใจงานของเตช บุนนาค :

จากการศึกษางานของเตช บุนนาค เรื่อง การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2535-2558 คือ

การศึกษางานบริหารภายในของสยามในอดีต ที่แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ การได้มาของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบปกครอง ระเบียบปฏิบัติ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ซี่งแสดงให้เห็นจุดอ่อนของการบริหารงานแบบเดิม ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย จากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ จนทำให้เกิดการนำไปสู่การปฏิรูปการปกครอง

กุญแจที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองนั้นอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งการที่พระมหากษัตริย์ยุคนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอำนาจเต็มในช่วงเวลา พ.ศ. 2411 - 2435 และการได้รับแรงกดดันจากภายนอกทำให้เกิดความสามัคคีภายในประเทศ แม้จะเกิดเสียงคัดค้านจากบรรดาผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบการปกครองแบบเก่า แต่รัฐบาลก็สามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติและส่งเสริมการปฏิรูปการปกครองให้มีความมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ใน พ.ศ. 2435 - 2458

ผลของการปฏิรูปครั้งนี้ ทำให้สยามมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จากรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคแบบหลวมๆ มาเป็นประเทศที่มีความเป็นปึกแผ่นและมีการปกครองส่วนกลางที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยมีการวางรากฐานการปกครองจังหวัดต่างๆ โยงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ส่งผลทั้งทางด้านสังคม ภาษีรายได้ของแผ่นดิน และการศาล

การเสนอเรื่องราวของการปรับปรุงสยามให้ทันสมัยของกระทรวงมหาดไทย ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองภายในและการเมืองภายนอกประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว ซี่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้สยามรักษาเอกราชไว้ได้ ในยุคแสวงหาอาณานิคมของชาติในยุโรป

โดย นายสรศักดิ์ ชิตชลธาร
รหัสนิสิต 5074156925