วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ให้นิสิตแสดงประเด็นที่นิสิตสนใจจากนโยบาย/แผน/กฎหมายที่ให้อ่านต่อไปนี้

โดยให้นิสิตเขียนแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก อภิปรายประเด็น ทั้งนี้นิสิตจะเขียนบทความดังกล่าวให้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่นิสิตสนใจกับการทำวิทยานิพนธ์หรือไม่ก็ได้ ให้มีความยาวประมาณ 3 ย่อหน้า ต่อ 1 บทความ

1. อ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ต่อไปนี้ (ก) พรบ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ข) พรบ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม (ค) พรบ. ข้าราชการพลเรือน

2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนฯ 10)

3. รัฐธรรมนูญ 2550

ทั้งสามหัวข้อดังกล่าวสามารถไปโหลดอ่านได้จาก Link ของวิชา planadmin ของอ.พิชญ์

16 ความคิดเห็น:

Damrong Siammai กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔
โดยนายดำรง เสียมไหม
5074410225
มาตราที่ ๕๑ ว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคคือ จังหวัด และอำเภอ ตามพระราชบัญญัติระเบียบ
บริหาราชราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ กระผมขอวิพากษ์ในภาพรวมของการบิหารราชการแผ่นดินทั้งในแง่จุดเด่นและจุดด้อยของระบบ หรือบางครั้งเราอาจกล่าวได้ว่าระบบการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางสามารถสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการทางการเมืองการปกครองตั้งแต่รัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) เป็นต้นมา ดังที่เราได้ศึกษางานเขียนของเตซ บุนนาคมาแล้ว
จุดเด่น เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าการปกครองส่วนภูมิภาคตามการแบ่งพื้นที่ระดับอำเภอและจังหวัด นั้นคือนอมินีหรือตัวแทนอำนาจของกระทรวงมหาดไทยที่กระจายไปทั่วประเทศในการผูกมัด ควบคุมผลประโยชน์ของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาพดังกล่าวคือการสะท้อนของระบบชนชั้นได้เป็นอย่างดีระหว่างนักปกครองและผู้ใต้การปกครอง เมื่อคนธรรมดาสามัญได้เข้ามาอาศัยในสนามแห่งอำนาจและผลประโยชน์ พวกเขาก็จะแสดงถึงความีอำนาจบาทใหญ่อย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนผู้มาขอรับการบริการต่างๆ มองการปกครองในระบบนี้เป็นพรมแดนต้องห้ามที่จะเข้าไปสัมผัส หรือเราจะมองได้อีกมุมหนึ่งคือ บุคลิกดังกล่าวมีความจำเป็นที่ต้องนำมาใช้/ถูกฝึกมาเป็นการเฉพาะสำหรับนักปกครอง จนสามารถรักษาฐานอำนาจรัฐบาลกลางไว้ได้อย่างเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน
จุดด้อย ระบบการปกครองส่วนภูมิภาคมักไม่ค่อยให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการของรัฐ ไม่มีสักประโยคเดียวใน พ.ร.บ. ที่จะกล่าวถึง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในขณะทีรัฐก็มีคำถามในใจมาตลอดทำไมประชาชนจึงไม่ใความร่วมมือ พฤติกรรมการยัดเยียดให้กับประชาชนในพื้นที่สิ่งที่เรียกว่าโครงการของรัฐโดยมี Formats เดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักการเมืองและข้าราชการประจำฉ้อโกงคอรัปชั่นจากโครงการของรัฐและพฤติกรรมเช่นนั่นได้หยั่งรากฝังลึกในระบบราชการไทยมานับร้อยปีแล้ว ถ้าจะกล่าวคำที่ค่อนข้างรุนแรงในพฤติกรรมดังกล่าวคือ ความล้าหลังของประเทศไทย และสภาพการณ์จะดำเนินต่อไปหากนักปกครองไม่เปลี่ยนแปลงหรือการไม่ปรับปรุงระบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมได้

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554)
โดยนายดำรง เสียมไหม
5074410225

กระผมสนในพันธกิจการพัฒนาประเทศไทยตามแผนฯ (๓) กล่าวว่า “ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากร ธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นธรรม และมีการสร้างสรรค์คุณค่า สนับสนุนให้ชุมชนมีองค์ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อคุ้มครองฐานทรัพยากร คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากร ปรับแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของชาติจากข้อตกลงตามพันธกรณีระหว่างประเทศ” นโยบายเศรษฐกิจเสรีก่อให้เกิดการ Import/Export ทรัพยากรมหาศาล จนถึงขั้นเสื่อมถอย และบาง sectors เช่น ทรัพยากรป่าไม้ ชายฝั่ง น้ำ เป็นต้น ประสบปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ สาเหตุความเสื่อมถอยมีหลายประการ ในบทความนี้ของตัวอย่างเรื่องความอ่อนแอของการบังคับใช้กฏหมายของท้องถิ่น
กรณีของเกาะลันตา จะเห็นว่าอำนาจหรือกระแสทุนขนาดใหญ่จากภายนอกได้ทับถมองค์กรและอำนาจทางกฏหมายของพื้นที่หมดสิ้น พลังอำนาจของชุมชนท้องถิ่นและอำนาจจากส่วนกลางไม่สามารถแก้ปัญหาและทานทนกับการถาโถมของทุนเหล่านั้น โชคยังดีที่ฤดูกาลท่องเที่ยวมีเวลาและฟื้นตัวโดยธรรมชาติในช่วง Low season แต่ในระยะยาวการสะสมมลพิษและการกัดกร่อนทางสังคมจะเปิดแผลและขยายขอบเขตมากขึ้น จนอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น เอกชน และชุมชน ถ้าหากพื้นที่ และท้องถิ่นชุมชนไม่มีมาตรการร่วมกันป้องกันปัญหานี้
จากพันธกิจของแผนฯ ในข้อ (๓) ข้างต้น ในวรรคแรกที่กล่าวถึง “ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากร ธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม” คือเป้าหมายของมนุษยชาติทุกคน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงพันธกิจนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับพฤติกรรมการบริโภคและการกอบโกยทรัพยากรของมนุษย์ (บางกลุ่ม) อย่างบ้าคลั่งภายใต้กระแสทุนในยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งปรากฏได้ทั่วไปในปริมณฑลต่างๆ ของโลกใบนี้ สิ่งที่น่าเบื่อคือนับวันนักคิด นักบริหารช่างประดิษฐ์วาทกรรมขึ้นมาเพื่อการตลาด แต่ในทางปฏิบัติกลับว่างเปล่า เพราะความยากจนและการขาดแคลนอาหารยังเป็นหาระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เราจึงจำเป็นต้องแสวงหาเครื่องมือ (อัศวินม้าขาว) มาทำงาน อาจจะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ภายในชุมชนของตนเองกันก่อนโดยมีทุกภาคส่วนที่พร้อมให้ความร่วมมือ ทำอย่างนี้ในทุกๆ ชุมชน แล้วค่อยๆ ต่อจิ๊กซอทางพื้นที่ต่อเนื่องในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค และประเทศในที่สุด ถ้าทำเช่นนี้ได้เราก็จะไปถึงคำว่า “ความยั่งยืน”

รัฐธรรมนูญ 2550
โดยนายดำรง เสียมไหม
5074410225
ประเด็นที่กระผมสนใจในรัฐธรรมนูญ 2550 นี้คือ สิทธิชุมชนท้องถิ่นในการรักษาทรัพยากรของชุมชนตนเองโดยจะเชื่อมโยงมายังพื้นที่สนใจศึกษาคือพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มาตรา 66 กล่าวว่า “บุคคลซึ่งรวมเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งวแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” เป็นที่ทราบทั่วไปแล้วว่าเกาะลันตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชายหาดติดอันดับโลกไปแล้วในขณะนี้ ประเด็นปัญสำคัญคือภาวะถดถอยของทรัพยากรและการคุกคามต่อวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวกระแสหลัก ตรงนี้ชุมชนจะหยิบฉวยโอกาสหรือสิทธิของชุมชนที่เปิดกว้างตามรัฐธรรมนูญมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
ในปัจจุบันแม้ว่าราชการจะเปิดโอกาสให้ชุมชนใช้สิทธิของตนเองตามกฏหมายได้มากขึ้นกว่าในอดีต นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540) แต่การให้ความรู้ ความเข้าใจต่อประชาชนยังอยู่ในวงจำกัด และส่วนหนึ่งเกิดจากความสนใจของประชาชนด้วยว่ามีมากน้อยระดับไหน ชุมชนเกาะลันตาปัจจุบันนับได้ว่าค่อนข้างตื่นตัวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเข้าใจถึงสิทธิของตนเอง ซึ่งมีที่มาจากมีปัจจัยเร่งจากภายนอกและภายในดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น พร้อมกับที่สถาบันการศึกษาระดับสูงเข้าไปกระตุ้นและทำงานไปพร้อมกัน จนกระทั่งชุมชนมีแนวคิดการรวมกลุ่มชุมชนท้องถิ่นเพื่อปกปักษ์รักษาทรัพยากรและวัฒนธรรมของตนเอง โดยยึดกรอบของพื้นที่ลุ่มน้ำในการแบ่งโซนพื้นที่รับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า “โหมว”
สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือของชุมชนท้องถิ่นจะสามารถใช้สิทธิชุมชนตามมาตรา 66 ให้เกิดในเชิงรูปธรรมอย่างไร มีองค์ประกอบใดบ้าง หรือโครงสร้างขององค์กรชุมชนจะมีกลไกการทำงานอย่างไร ในเมื่อหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในเกาะลันตาไม่สามารถประสานการทำงานได้เป็นหนึ่งเดียว และการบล็อคการเข้าถึงของประชาชนด้านการมีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชนและการตรวจสอบหน่วยงาน ประกอบกับองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งพอหรือไม่เพื่อเป็นเฟืองจักรในการต่อรองและรักษาสิทธิของตนเอง ทำให้ได้ข้อสรุปในบทความสั้นนี้ได้ว่า “การก่อร่างสร้างตัวของหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่นในการเข้าถึงสิทธิของตนเองอย่างแท้จริงตามมาตรา 66 ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ในขณะนี้”

S.sittichok กล่าวว่า...

สิทธิโชค สุระตโก
ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง
รหัส 5074157525
………………………………………………………………………………………………….
[1]. พรบ. ข้าราชการพลเรือน
พรบ. ข้าราชการพลเรือนฉบับปัจจจุบันคือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเนื้อหาต่างๆไปพอสมควร การปรับปรุงกฎหมายข้าราชการพลเรือนในครั้งนี้ จะแตกต่างจาก 3 ครั้งที่ผ่านมา คือ เป็นการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่แก้ไขบางมาตราเหมือนที่ผ่านมา โดยอยู่ภายใต้หลักการใหญ่ 5 ประการ ได้แก่
1.หลักคุณธรรม โดยเน้น ความสามารถ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
2.หลักสมรรถนะ โดยเน้นที่ความรู้ความสามารถที่จำเป็น เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
3.หลักผลงาน มีการให้คุณให้โทษโดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ
4.หลักการกระจายอำนาจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนราชการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ
5.หลักความสมดุล ระหว่างคุณภาพชีวิตและการทำงาน
ซึ่งเมื่อดูเนื้อหาแล้วก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีหากดำเนินการได้ตามหลักการ แต่ก็มีประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจ ก็คือ ความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องผลตอบแทนหลังการยกเลิกระบบจำแนกตำแหน่ง (Position Classification) หรือ ระบบพีซี ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ข้อสังเกตุที่เห็นคือ ระบบการขึ้นเงินเดือนเดิมในระบบซีนั้น ที่ขั้นเงินเดือนแต่ละขั้นถูกกำหนดไว้ตายตัว แต่ถ้าเป็นตาม พรบ. นี้จะไม่มีการกำหนดขั้นเงินเดือนที่แน่นอนไว้ แต่สามารถเพิ่มเงินเดือนเป็นเปอร์เซนต์แล้วแต่ผลงานที่ทำได้ ตรงนี้จัดว่าเป็นส่วนดีที่สามารถประเมินผลงานและให้ผลตอบแทนเป็นรายบุคคลได้ ใครทำงานได้ดี ก็รับมาก ใครทำงานเช้าชามเย็นชาม ก็รับน้อยหน่อย แต่ในทางกลับกันถ้าหากมีความสนิทสนมกับผู้บริหาร ระดับสูงก็สามารถยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นด้วยการสนับสนุนของผู้ใหญ่ และยังได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย เมื่อได้มาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำงานอย่างจริงจัง ทำให้ระบบราชการไทยดูเชื่องช้า ไม่มีการพัฒนาเหมือนอย่างในระบบเอกชน ความยุติธรรมของระบบประเมินเองก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำทุจริตได้ง่ายขึ้น จะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกมากขึ้น ผู้ประเมินก็จะกลายเป็นผู้มีพระเดชพระคุณ มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการสนับสนุนระบบข้าราชการแบบเก่าให้ขยายตัวขึ้นอีกก็เป็นได้
…………………………………………………………………………………………………………….
[2]. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนฯ 10)
การที่ประเทศจะพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยการวางแผนนั้นย่อมต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ ศักยภาพของเราเองที่มีอยู่ในปัจจุบันและโอกาส แนวโน้ม ที่มีความเป็นไปได้ที่จะก้าวไปข้างหน้า การมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เพิ่งมามีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการวางแผนในช่วง แผนฯ8 เป็นต้นมา ซึ่งแผนที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวที่จะมากำหนดเป้าหมายของประเทศ แต่จะเน้นการมีส่วนร่วม การเข้ามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของภาคส่วนต่างๆ ถึงกระนั้นก็ตามแต่ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินการของแผนพัฒนาก็ไม่ได้ยืนอยู่บนเจตนารมณ์ที่วางไว้
ถึงแม้ว่าการวางแผนของประเทศจะมีรูปแบบวิธีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปหรือพยาดึงการมีส่วนร่วมเข้ามาก็ตามก็ตาม แต่การวางแผนของประเทศโดยภาพรวมแล้วก็ยังขาดทิศทางที่ชัดเจด ดังเช่น แผนฯ8 ที่เน้น”คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา” ต่อมา แผนฯ9 “การพัฒนาบนหลักการเศรษฐกิจพอเพียง” แต่อย่างไรก็ตามในแผน ยังมีความสับสนในเรื่องฐานคิดระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจการค้าเสรี ทุนนิยมโลก ทำให้เกิดความสับสนในการนำไปปฏิบัติเพราะฐานคิดของเศรษฐกิจทุนนิยม มุ่งเน้นที่ตัวทุนของกลุ่มนักลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงเน้นสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ และเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเองก็ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ก่อปัญหามลภาวะต่างๆ ปัญหาด้านทรัพยากรก็เช่นกัน เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดลงของพื้นที่ป่า รัฐใช้วิธีการออกกฎหมายกำหนดนโยบายป่าไม้เพื่อป้องกันการลดลงของพื้นที่ป่า เช่น การขยายเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก และไม่ต้องการให้ชุมชนในการตั้งถิ่นฐานในเขตป่าเพราะไม่ไว้ใจชุมชน เกิดเป็นความคิด”แยกคนออกจากป่า” แต่กลับไว้ใจบริษัทเข้ามาปลูกสวนป่า(เช่นการปลูกป่าเศรษฐกิจที่มีแต่ป่ายูคาลิปตัส) ทั้งยังมีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ภาคประชาชนก็มีการขยายป่าชุมชนมากขึ้นแต่กลับไม่มีการสนับสนุน นอกจากนี้ในช่วง แผน ฯ9(การพัฒนาบนหลักการเศรษฐกิจพอเพียง) ยังพบว่ามีการลักลอบตัดไม้ในประเทศไทยมากขึ้น มีการคอร์รัปชั่นมากมายอีกด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกและก็ทราบดีว่าเป็นยุคของการพัฒนาโดยคนเป็นศูนย์กลางและยืนอยู่บนความพอเพียง แต่กลุ่มทุนกลับเข้ามามากมายในช่วงเวลานี้เอง
แผนฯ10 มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ” ฟังแล้วก็ดูดี แต่จะทำอย่างไรให้เป็นไปตามแผน ในเมื่อบ้านเมืองเรายังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง-สังคม-เศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการเมืองซึ่งเป็นตัวชี้นำในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศเห็นด้วยกับสภาพัฒน์เพียงใด ในความเห็นส่วนตัวหากเป็นเช่นดังที่กล่าวมาสมควรอย่างยิ่งที่จะให้ยกเลิกแผนพัฒนาฯของสภาพัฒน์ฯ เพราะเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ออกมาเพื่อกำจัดสิทธิ์ของคนในสังคม ในต่างประเทศแถบตะวันตกเองไม่มีแผนพัฒนาฯ เพราะว่าเขามีทิศทางการพัฒนาประเทศ แม้จะไปในแนวทางของกลุ่มทุน แต่การพัฒนาของภาคประชาชนก็เติบโตไปพร้อมกัน การต่อสู้ทางอำนาจค่อนข้างสมดุล แต่เมื่อเทียบกับประเทศไทย จะเห็นว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ระบบราชการเติบโตมาก ในขณะที่ระบบรัฐสภาไม่ค่อยเข้มแข็ง แต่ในต่างประเทศจะพบว่าชุมชนเข้มแข็งมาก มีอิสระมากที่จะกำหนดกฎกติกาเพื่อบริหารตัวเอง แม้จะมีรัฐบาลกลางแต่รัฐบาลท้องถิ่นก็เข้มแข็งเช่นเดียวกัน ฉะนั้นท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะแผนพัฒนาของตัวเอง แต่สำหรับท้องถิ่นไทยกลับถูกดึงเข้าไปสู่ส่วนกลางหมด เป็นการบริหารแบบรวมศูนย์ ผมจึงคิดว่าไทยไม่ควรมีแผนประเทศที่เป็นภาพรวม เมื่อสภาวะโลกมีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างรวดเร็ว ท้องถิ่นน่าจะบริหารและกำหนดแผนของตัวเอง ไม่ใช่แผนระดับชาติจากส่วนกลางเท่านั้น
…………………………………………………………………………………………………………………
[3].รัฐธรรมนูญ 2550
รัฐธรรมนูญ2550 มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีผู้วิพากษ์และวิจารณ์กันอย่างแพร่หลายในสังคมปัจจุบัน เช่น ข้อดี การเข้าไปการตรวจสอบรัฐบาลผ่านองค์กรอิสระต่างๆในทางทางกฎหมายได้ มุ่งเน้นให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เช่น การเพิ่มสิทธิใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในด้านต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การเมือง การปกครอง มุ่งเน้นความโปร่งใส คุณธรรม และจริยธรรมของนักการเมือง เช่น มีหมวดหมู่ว่าด้วยคุณธรรมและจริยธรรมเป็นการเฉพาะ ส่วนข้อเสีย เช่น การมุ่งเน้นแก้ปัญหาการเมืองไทยเฉพาะหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เน้นช่วงที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ปี 2544-2549 แต่ไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาถาวรของการเมืองไทย มีอคติ ต่อนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้วอำนาจเก่า และก็ยังมีเรื่องบางเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องนำมาประกาศเป็นรัฐธรรมนูญ แค่เป็นมติ ครม.หรือนโยบายรัฐบาลก็เพียงพอแล้ว
ถึงจะมีข้อดีข้อเสียต่างก็ตาม แต่ประเด็นที่ผมสนใจในรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ คือ การมองว่าการรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ถูกต้องในระบบกฎหมายไทย การฉีกรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิด โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 309 บัญญัติว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นเเละการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” การนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญนี้เท่ากับเป็นการเชื้อเชิญให้มีการก่อการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคตเพราะสามารถทำได้โดยไม่มีความผิด

tapanee กล่าวว่า...

นางสาวฐปณี รัตนถาวร รหัส 5074403925
นิสิต ป.เอก สาขาการวางแผนภาคและเมือง

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
พ.ศ.๒๕๕๑

ซึ่งเป็นมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนถือปฎิบัติ ซึ่งเป็นบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฏหมาย เพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าตามนโยบายรัฐบาล

ในฐานะนักผังเมือง (Urban and Rural Planning) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐหรือเรียกว่าเป็นข้าราชการพลเรือน ซึ่งปฎิบัติหน้าที่หลักในตำแหน่งของนักผังเมือง (หรือเรียกชื่อตำแหน่งอื่นตามที่หน่วยงานจะกำหนด) ที่มีหน้าที่ทำการวางแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่หรือชุมชนทั้งในเมืองและชนบท เพื่อไปสู่การพัฒนาสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ควรเป็นผู้ถือปฏิบัติในมาตรฐานหลักเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้การพัฒนาไม่ตกเป็นเครื่องมือหรืออำนาจของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง รวมทั้งต้องยอมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง เพราะนักวางแผน/ผังเมือง เป็นเสมือนตัวแทนของรัฐ (บาล) ที่มีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิในทรัพย์สิน (หมายถึงที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์)ของประชาชนและมีอำนาจในการผูกขาดการใช้กำลังด้วยความชอบธรรม (ในที่นี้หมายถึงการเวนคืน เป็นต้น)

ทั้งนี้ ในพรบ. ได้กำหนดขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการพลเรือน ในสิทธิและเสรีภาพที่พึงปฎิบัติ แต่สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากการที่บุคคลสามารถปฎิบัติหน้าที่ของตนแล้ว ควรจะสามารถตรวจสอบผู้ปกครองตนได้โดยชอบด้วยกฏหมายเช่นกัน และจุดอ่อนของการปกครองโดยข้าราชการพลเรือน มีลักษณะบงการและควบคุมจากเบื้องบน มักจำกัดอำนาจและงบประมาณของท้องถิ่น ที่เป็นการผูกขาดทางอำนาจ ซึ่งแฝงตัวให้เกิดการคอรัปชั่นรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังเป็นระบบที่ตรวจสอบ (accountability) ไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

................................

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐ - ๒๕๕๔)

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาประเทศนับจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๔) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่มุ่งให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ในปีแรกของแผนฯ ประเทศไทยต้องประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานและความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๙) ได้อัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้มแข็งและอ่อนไหวต่อความผันผวนของปัจจัยภายนอก และความโปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งปัญหาที่กิดขึ้นในบางประเด็นก็ยังไม่สามารถแก้ได้โดยใช้แผนฯ เป็นตัวกำหนด

ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔) ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่ายังมีปัญหามากมายและเกิดโครงการที่ไม่ปรากฏในแผน ประเทศไทยต้องทบทวนว่าการกำหนดแผน ยังมีความจำเป็นหรือไม่ หรือทิศทางควรเป็นอย่างไร เพราะในแผนฯ ได้เพียงเขียนภาพที่สวยหรูแต่แต่ยังขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณโดยสำนักงบประมาณมีความสอดคล้องกับแผนการนี้มากน้อยเพียงใด รวมถึงความทันสมัยของการนำแผนสู่การปฎิบัติด้วย

ในงานผังเมือง นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดแผนฯ นั่นหมายถึงทิศทางในการพัฒนาเมืองและการขยายตัวของเมือง ทั้งเมืองหลวง เมืองหลักเมืองรองและเมืองอื่นๆ กลับถูกละเลย ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันคือเมืองหลวงที่ถูกพัฒนาอย่างไร้ทิศทางจนกลายเป็นเมืองที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจจนส่งผลในระดับประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติควรพัฒนาจากความเป็นจริงของรากฐานของประเทศและคนไทยโดยแท้จริง ไม่ยึดติดอยู่กับแผนเก่าๆ นโยบายเดิมๆ ลอกของเก่ามาปัดฝุ่น ประเทศไทยจะได้มีวี่แววของการพัฒนาที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา”อย่างแท้จริงเสียที

…………………………………...............

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐

ในบททั่วไปนั้นยังคงหลักการและโครงสร้างเดิมตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ แต่ก็ได้บัญญัติเพิ่มเติมบางมาตราให้มีความชัดเจนในหลักการมากยิ่งขึ้น ให้การมีส่วนร่วมในการปกครองง่ายขึ้น โดยการลดความเคร่งครัดของเงื่อนไขในการเริ่มต้นกระบวนการบางอย่างลง มีการเพิ่มเติมหลักการในบางเรื่อง ซึ่งรวมไปถึงการบัญญัติให้หลักการที่มีอยู่เดิมมีความกระจ่างชัดมากขึ้น และจัดประเภทของสิทธิเสรีภาพเอาไว้เป็นหมวดหมู่ทำ
ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ การเพิ่มสิทธิของชุมชนและชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้ครอบคลุมถึงกรณีการรวมตัวกันของบุคคลขึ้นเป็นชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการรวมตัวกันมาเป็นเวลานาน เป็นต้น

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานผังเมืองโดยตรงนั้น อยู่ในส่วนที่ ๕ สิทธิในทรัพย์สิน มาตรา ๔๒ “การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์” ปัญหาที่มักพบเห็นจากความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน คือ การเวนคืนที่ดิน ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนและเป็นธรรมว่า “การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติการกำหนดค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มา สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน และประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน”

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นเพียงหลักการที่กำหนดขึ้นเพื่อนำไปสู่การออกกฏหมายหรือพระราชบัญญัติต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนั้นๆเท่านั้น และในทางปฎิบัติการที่จะกระทำการเวนคืนนั้นๆ จะเกิดปัญหาใดๆ มากน้อยเพียงไรย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น การลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น อาจกระทำได้โดยการทำประชาพิจารณ์ หรือการให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ รับฟังและรับความยุติธรรมจากภาครัฐอย่างแท้จริง

ปรัญญู กล่าวว่า...

รัฐธรรมนูญปี 2550
รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกเขียนโดยคณะ สสร. ของกลุ่ม คมช. ที่เข้ามาทำการรัฐประหารในปี 2549 โดยมีลักษณะที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับทั่วๆไป มีข้อกฏหมายที่ทำให้ระบบการเมืองฝ่ายบริหารมีสภาพอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด มีการเขียนเพื่อคานอำนาจให้ฝ่ายบริหารดำเนินการได้อย่างไม่เต็มที่ ให้ฝ่ายปกครองสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลให้รูปแบบการปกครองมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะในเรื่องของศาลที่เข้ามามีบทบาทมากจนเกินไป เช่น มาตรา 237 ที่ฝ่ายตุลาการสามารถดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น รวมถึงการนิรโทษกรรมการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา การออกกฏหมายในลักษณะเป็นรัฐทหาร ซึ่งส่งผลเสียต่อการปกครอง ประเทศไทยยังคงเห็นเรื่องการปฏิวัติเป็นเรื่องปกติ สามารถฉีกรัฐธรรมนูญลงได้อย่างง่ายดาย กฏหมายของบ้านเมืองจึงยังคงไม่ศักดิ์สิทธิ์ หากผู้ใดมีอำนาจผู้นั้นก็จะมีแต่ความถูกต้อง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากความผิดปกติของบ้านเมืองที่ต้องการกำจัดทุนนิยมเพื่อให้อยู่ในระบบการปกครองที่ฝ่ายปกครองสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มความสามารถ โดยการร่างของกลุ่มคนที่อ้างว่าเขียนขึ้นเพื่อประชาธิปไตยภายในบ้านเมืองทั้งที่จริงแล้วกลุ่มผู้ร่างก็มาจากอำนาจที่ไม่ได้ถูกต้องตามกติกาบ้านเมืองเท่าใดนัก ลักษณะรูปแบบของข้อกฏหมายหลายๆข้อยังคงมีการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารอย่างมากมาย มีการพยายามฟอกรัฐธรรมนูญให้เกิดความถูกต้องตามกฏหมายด้วยการย้อมแมวขายในลักษณะการทำประชามติ มีข้อแม้ที่ว่าหากไม่ผ่านประชามติจะไม่มีการเลือกตั้งบ้านเมืองจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ การสร้างข้อแม้นี้เป็นการสร้างเงื่อนไขสำคัญทางการเมืองที่มีปัญหาเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อความชอบธรรมและความยุติธรรม ประชาชนผู้ไม่เข้าใจก็หลงเชื่อซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 นำมาแก้ไขใหม่ได้ แต่กลุ่มร่างยังคงต้องการแฝงข้อกฏหมายบางข้อเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องและข้อกล่าวหาของตน
การวางแผนเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศจำเป็นที่ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครองต้องร่วมมือกัน มิใช่การขัดกันทางผลประโยชน์ของตนหรือทำตามคำสั่งใครเพราะเมื่อทำสิ่งใดแล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมตกอยู่กับประชาชนทั่วไป


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 10 มีลักษณะแตกต่างจากฉบับก่อนๆได้อย่างชัดเจน มีความเป็นนามธรรมมากขึ้นบางครั้งทำให้ไม่สามารถจะวัดความก้าวหน้าและความเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน รูปแบบขององค์กรที่ทำหน้าที่ยังคงมีลักษณะเป็นแนวตั้ง ซึ่งไม่ได้ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่กระจายออกไป ผลที่เกิดจากแผนจึงยังขาดประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ขาดความเป็นเจ้าของ ขาดความรู้ที่ลึกซึ้งและแม่นยำในการทำแผน การร่างแผนยังขาดความต่อเนื่องในหลายๆด้าน
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก มีการกระจายอำนาจสู่กลุ่มเล็กมากขึ้น ในขณะที่แผนพัฒนาแห่งชาติฉบับแรกๆจะมีการกำหนดภาพรวมที่กว้าง ทำให้ประเด็นการพัฒนาไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ในแผนพัฒนาฉบับที่ 10 มีรูปแบบของการจับต้องได้ยังน้อยเหมือนลอยในอากาศทำให้แผนพัฒนาดูเหมือนยังต้องการปัจจัยต่างๆคอยช่วยเสริมเพื่อการนำไปใช้ได้จริง ขาดเกณฑ์วัดและความน่าเชื่อถือของแผน แผนบางอย่างจำเป็นที่จะต้องมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันทำ แต่เมื่ออ่านจากแผนแล้วยังขาดความต่อเนื่องขององค์กรที่จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา เปรียบเสมือนเขียนแผนเพื่อให้มีแต่องค์กรที่ทำงานโดดเดี่ยว ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนในอนาคตได้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 10 ยังคงมีปัญหาในส่วนของการไม่กำหนดอะไรให้ชัดเจน “เน้นความพอเพียง” “คุณธรรมจริยธรรม” “น่าอยู่” ซึ่งส่วนนี้จะนำไปเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่ค่อนข้างยากและส่งผลถึงปัญหาได้ เปรียบเหมือนการว่ายน้ำในอ่าง เพราะการขาดการนำพาไปสู่แนวทางที่ดี อีกทั้งการตีความหมายของคำในการพัฒนายังไม่มีอะไรแน่นอนด้วย สุดท้ายแล้วแผนพัฒนาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นแผนพัฒนาที่ชี้ให้เห็นเป้าหมายได้ สุดท้ายฝ่ายที่นำแผนไปปฏิบัติก็คงต้องงมกับสิ่งที่เรียกว่าแผนหรือเกมแก้ปริศนากันต่อไป


พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เกิดขึ้นในสมัยของนายกทักษิณ ชินวัตร โดยมีการเพิ่มรูปแบบของหน่วยงานบริหารเพื่อให้เข้าถึงระบบได้ดียิ่งขึ้น ใน พรบ.ได้พูดถึงหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่ค่อนข้างละเอียดขึ้น โดยมีการเพิ่มกระทรวงถึง 20 กระทรวง เพิ่มหน้าที่เพื่อให้ครอบคลุมกับการบริหาร มีมาตรากำหนดหน้าที่ชัดเจนขึ้น
ใน พรบ. ยังมีบทเฉพาะการทางกฏหมายที่ไว้สำหรับหน่วยงานราชการ เพื่อพูดถึงสิทธิโดยรวมของหน่วยงานราชการ รวมถึงส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เหตุที่มีการผลักดันในการใช้ พรบ. ฉบับนี้เกิดจากการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญและกฏหมายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องและเกิดผลประโยชน์สูงสุด รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังล่าช้าในส่วนของราชการที่ปฏิบัติงานไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมนัก อีกทั้งยังขาดการทำงานร่วมกันของเป้าหมายและจัดระบบกลไกในการปฏิบัตให้มีความสัมพันธ์กัน ทำให้การทำงานซ้ำซ้อนและเกิดผลต่อประชาชน แนวทางนี้จึงเป็นการปรับเปลี่ยนระบบข้าราชการทั้งระบบ โดยแบ่งอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนและมีความสัมพันธ์กันไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน ทิศทางในการปฏิบัติงานจึงชัดเจนมากยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพที่เกิดผลประโยชน์สูงสุด
ทุกมาตราที่กล่าวถึงจะมีข้อกำหนดที่แสดงถึงหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ การปรับปรุงจะเกิดผลดีต่อการบริหารบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน พรบ. ฉบับนี้อาจจะมีปัญหาในเรื่องความซับซ้อนของหน่วยงานในบางหน้าที่ หรืออาจจะเกิดการเกี่ยงงานขึ้นได้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกับรูปแบบของหน่วยงานนั้นๆเองด้วย

ปรัญญู เฟื่องเพียร 5074128325

pattamaporn.w กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่นี้ ประเด็นที่ดิฉันสนใจ ก็คือ การปรับโครงสร้างตำแหน่งของข้าราชการ หรือการยกเลิกระบบ “ซี” และจัดแบ่งประเภทตำแหน่งเป็น 4 ประเภทให้สอดคล้องกับลักษณะงานในปัจจุบัน ได้แก่ ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ตำแหน่งประเภทวิชาการ และตำแหน่งประเภททั่วไป (มาตรา 44, 45)

ทั้งนี้จากแต่เดิมการกำหนดตำแหน่งงานในราชการให้อยู่ในกลุ่มเดียว มีการบริหารแบบเดียว โดยมีโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนเพียงบัญชีเดียวใช้กับทุกตำแหน่งในราชการพลเรือนนั้น สามารถทำได้ในอดีตเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มักเลือกทำงานราชการ แต่จากสถานการณ์ของโลกปัจจุบันและการแข่งขันจากภาคเอกชน ที่การจัดการทรัพยากรบุคคลของภาคเอกชนเริ่มแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดการแย่งชิงบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถด้วยการเสนอค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูงจนภาคราชการไม่สามารถสู้ได้ ส่งผลให้ภาคราชการไม่สามารถชักจูงคนดีคนเก่งให้เข้าสู่ระบบได้

ดังนั้นการปรับโครงสร้างตำแหน่งของข้าราชการ โดยแบ่งประเภทตำแหน่งออกเป็นหลายประเภท เพื่อแยกบัญชีเงินเดือนแต่ละประเภทออกจากกัน จึงน่าจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับตลาดและการบริหารผลงาน การจ่ายค่าตอบแทนตามความรู้ความสามารถของข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งสะท้อนค่างานของตำแหน่งในแต่ละประเภทได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในประเด็นนี้ก็คือ การจัดข้าราชการที่มีอยู่ลงให้ครบทั้ง 4 ประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่ทำหน้าที่ก้ำกึ่งกันหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการเก่า โดยข้าราชการเหล่านี้ หากถูกจัดลงในประเภททั่วไป อาจจะเกิดความรู้สึกเสียศักดิ์ศรีว่าสู้ประเภทวิชาการหรือประเภทอื่นๆไม่ได้ จึงก่อให้เกิดการเกษียณก่อนกำหนดซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับข้าราชการในกลุ่มที่ไม่พอใจในการจัดจำแนกลงประเภทใหม่ครั้งนี้
...................................

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนฯ 10)

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน คือ คน ชุมชน โครงสร้างเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากร และการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศสู่ความยั่งยืน ทั้งนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เป็นแผนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาชี้นำ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักของการทำแผนไปสู่ระดับที่มีความสมดุล และการสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ การสร้างโอกาสในการเข้าสู่ความรู้ และการส่งเสริมจริยธรรม ความสามัคคี ความซื่อสัตย์สุจริตและความเพียร เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม รวมทั้งระดับประเทศ

ทั้งนี้ประเด็นที่ดิฉันสนใจในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 คือ การสร้าง "สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน" โดยเน้นที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างภูมิต้านทาน และการพึ่งตนเองได้ แต่ทั้งนี้การที่เป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ การนำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ในทางปฏิบัติถือว่าเป็รสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาล หรือการทำงานของภาครัฐในระดับต่างๆ แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการทำงานของรัฐบาล ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญ เข้ามาสนับสนุน และนำแนวคิดนี้ไปใช้ในทางปฏิบัติมากนัก ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาลต่างมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น เพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่พอใจของประชาชน แต่มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมในอนาคต

นอกจากนี้ในภาคประชาชนในปัจจุบัน แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็ดูเหมือนว่ากำลังอ่อนลง น้อยคนนักที่จะเข้าใจหลักการและความหมายที่แท้จริงของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนใหญ่จะมองข้ามแนวคิดนี้ และมุ่งไปที่การบริโภคนิยม ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมต่างๆมากมาย ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน ดังนั้นการที่เราจะสามารถสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน จึงควรมีการทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในระดับรากหญ้าให้เข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้ ก็คงจะหนีไม่พ้นรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ ที่จะต้องนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในนโยบายการพัฒนาประเทศในระดับต่างๆและ ก่อให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
...................................

รัฐธรรมนูญ 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นกฎหมายสูงสุด ที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับที่ 18 โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2540 อยู่หลายประการ เห็นได้จากที่มีการถอดรื้อโครงสร้าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฯลฯ โดยใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประเด็นที่ดิฉันสนใจ ซึ่งคิดว่าเป็นข้อดีก็คือ เรื่องของ "สิทธิชุมชน" กล่าวคือชุมชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่นของตน หรือการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนานั้นๆ เพื่อให้การพัฒนานั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในพื้นที่

นอกจากนี้ดิฉันยังสนใจในประเด็นเรื่อง "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" ที่มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่จะทำหรือไม่ก็ได้ โดยในรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้เพิ่มเนื้อหามุ่งกระจายความเป็นธรรมในสังคม และปกป้องทรัพย์สินของชาติ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร การปฏิรูปที่ดิน จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง คุ้มครองสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ให้เกิดการผูกขาด ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่เราจะต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันในสังคม เพื่อให้ทุกคนในทุกๆพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโดยเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ดีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ยังมีประเด็นที่ในความคิดของดิฉันแล้วไม่น่าจะถูกต้อง ที่สำคัญคือ มาตรา 309 ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าการกระทำใด ๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการ “ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” แล้วยังนิรโทษกรรมล่วงหน้าแก่คณะรัฐประหารดังข้อความที่ว่า “ไม่ว่าก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ 2550” ซึ่งในความคิดของดิฉันคิดว่าประเด็นนี้เป็นการทำสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก


ผู้ส่ง: น.ส.ปัทมพร วงศ์วิริยะ

5074129025

onaroon กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ข้าพเจ้าสนใจประเด็นของพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วนของหมวด 4 การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนสามัญมีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ แต่เมื่อเรามานึกถึงเมื่อเราต้องเข้าไปใช้บริการจากภาครัฐ เราจะพบว่าได้รับการบริการที่ไม่ค่อยดีนัก เจ้าหน้าที่เหมือนไม่มีใจบริการ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงมีความรู้สึกว่าการสร้างแรงจูงใจของข้าราชการในปัจจุบันนั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรหรือไม่ อย่างเช่น การที่ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณาประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อเลื่อนขั้น หรือเลื่นเงินเดือนนั้น มีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน หรือมีความโปร่งใสหรือไม่ ข้าพเจ้าใช้ประสบการณ์ที่เคยพบมาในการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ นั่นก็คือ ข้าราชการบางคนไม่ได้มีผลงานอะไรเลย แต่เป็นคนสนิทของผู้บังคับบัญชา จึงได้เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน ข้าพเจ้าจึงคิดว่ามันไม่มีความเป็นธรรมเลย ซึ่งตรงกันข้ามกับข้าราชการบางคนที่ตั้งใจทำงานหรือมีผลงาน แต่ก็ไม่ได้รับพิจารณาในการเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน ดังนั้นจึงอาจเป็นผลให้ข้าราชการพวกนี้จึงไม่มีแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการพิจารณาการเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก้ข้าราชการ ควรที่จะมีกฎเกณฑ์อะไรที่มากกว่าการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาหรือไม่ เพราะแทนที่ข้าราชการจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตน กลับกลายเป็นว่าต้องคอยไปปรนนิบัติผู้บังคับบัญชาแทนเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของตน


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่10 นั้นเน้นการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลางที่ต่อเนื่องมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่8 เนื่องจากบริบทรอบข้างที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามโลกาภิวัฒน์ในทุกๆด้าน ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาคนมีให้มีปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้และแก้ปัญหากับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ประเด็นที่ข้าพเจ้าสนใจในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 นี่คือ แผนได้มีการสรุปสถานะของประเทศไทย ที่สำคัญๆไว้ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งประเด็นสถานะที่การบริหารจัดการประเทศเป็นประเด็นที่ข้าพเจ้าสนใจเนื่องจากแผนได้พูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องพัฒนาและขยายบทบาทเพิ่มขึ้นทั้งด้านการเมืองและการพัฒนาท้องถิ่น ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนยังมีไม่มากเท่าที่ควร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ภาครัฐควรที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ซึ่งในการวางแผนและผังเมืองนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการวางแผน ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งมีแผนออกมา เนื่องจากการวางผังเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนสำคัญมากที่สุด เนื่องจากจะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วม


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550
ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจคือ สิทธิชุมชนท้องถิ่นในการรักษาทรัพยากรของชุมชนตนเอง ซึ่งในมาตรา 66 กล่าวว่า “บุคคลซึ่งรวมเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งวแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า การที่ประเทศไทยของเรานั้นจะเจริญก้าวหน้าไปได้ จุดเริ่มต้นที่ควรจะทำคือ การที่บุคคลในชุมชนมีจิตสำนึกรักในท้องถิ่นของตน มีการรู้จักใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นของตนอย่างคุ้มค่าที่สุด หรือรู้จักที่จะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนมาประยุกต์ใช้กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นของตนเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองหรือชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ พัฒนาตามศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ ไม่ทำอะไรเกินตัว ก็น่าจะเพียงพอ และเมื่อทุกชุมชนทำเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นพื้นฐานอันดี ในการพัฒนาในระดับการปกครองที่ใหญ่ขึ้นมา เพราะรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ย่อมมาจากรากฐานที่มั่นคงของชุมชนด้วย

อรอรุณ สิทธิ 5074167825

wanchai กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑
พรบ. ข้าราชการพลเรือนฉบับปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ เหตุผลในการใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อกำหนดภารกิจของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับเดิมมีการใช้บังคับมานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านการบริหารราชการที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงเกิดพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐสอดคล้องกับทิศทางการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากฉบับก่อนในมุมมองของผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการของฝ่ายราชการที่ต้องการพัฒนาองค์กรของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้านเพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนของหน้าที่ในแต่ละองค์กร อีกทั้งยังเป็นการกระจายอำนาจการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดดำเนินการมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ซึ่งการแบ่งแยกย่อยหน้าที่หรือการออกกฎที่ใช้บังคับข้าราชการพลเรือนเพื่อให้ทันกับโลกาภิวัฒน์น่าจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจของพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นอย่างมากทีเดียว


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554)
ในระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลาบบริบททั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและแสวงหาประโยชน์อย่างรู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เป็นผลต่อเนื่องมาจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8และ9 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการวางแผนพัฒนาประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมและมุ่งให้ “คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา” และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงได้นำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาเป็นหลักการในการการพัฒนาและบริหารประเทศ เพื่อเป็นการสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้มีรากฐานที่ดีมั่นคง
ประเด็นหรือสาระที่สำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ในทัศนะของผมคิดว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับนี้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ไปจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8และ9 มากนักสาระสำคัญก็เป็นไปในลักษณะกับแผน 8และ9โดยเป็นการกล่าวถึงการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเป็นแผนที่ไม่ได้กล่าวให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดแต่ให้เดินไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง แต่ไม่แน่ใจว่าแผนการพัฒนาเศรษฐกิจลักษณะนี้จะมีผลดีหรือเสียหรือไม่อย่างไร การมีส่วนร่วมของตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ เปิดให้ประชาสังคมและกลุ่มรากหญ้าได้เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้นอย่างจริงจังและจริงใจ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างดีที่สุด


รัฐธรรมนูญ 2550
รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้จากการทำรัฐประหาร เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (รัฐธรรมนูญ 2540) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นกฎหมายสูงสุด ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กลุ่มนายทหารที่ทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 แทน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการแปรญัตติ (การเสนอความคิดเห็นและขอแก้ไขเพิ่มเติม) จากนั้นจึงแจกจ่ายเผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วประเทศ เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549
ร่างรัฐธรรมนูญได้รับการสนับสนุนและต่อต้านจากหลายฝ่าย ในเรื่องของขั้นตอนการร่างและเนื้อหา ประเด็นการวิจารณ์หลักอยู่ที่การขาดความมีส่วนร่วมจากประชาชนในการร่าง การที่ คมช. ผูกขาดการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ การแก้ให้สมาชิกวุฒิสภาเกือบครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง การลดความมั่นคงของฝ่ายบริหารและระบบพรรคการเมือง การลดขนาดของสภาผู้แทนราษฎร การเพิ่มอำนาจของฝ่ายทหารและฝ่ายข้าราชการ และการนิรโทษกรรมผู้ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ
ดังนั้นรัฐธรรมนูฐฉบับนี้ในทัศนะ คิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชอบทำ เนื่องจากเป็นการชงเองกินเองของฝ่ายผู้มีอำนาจในการปกครองไม่ได้เกิดจากความต้องการหรือขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2540 แม้ว่าอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างแต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ใช่การร่างรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มคนที่ถูกตั้งขึ้นจากฝ่ายผู้มีอำนาจที่เพิ่งทำลายประชาธิปไตยโดยการปฎิวัติแล้วมาเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วบอกว่าเป็นประชาธิปไตย โดยยังมีการเหมือนให้มีการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยปริยาย โดยการบอกว่าหากไม่รับร่างฉบับนี้ก็อาจเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาอีก ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขจากภาคประชาชนหรือโดยการต่อสู้ในสภาแล้ว เราคงได้มีรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อีกมากมายตามมากมาย

วันชัย ศักดิ์พงศธร รหัส 507 41500 25

Unknown กล่าวว่า...

ข้อ 1 เลือกพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
สนใจเลือกวิเคราะห์หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 80 - 89
จะเห็นได้ว่าข้าราชการไทยมีระเบียบปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติ เช่น ความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม ตั้งวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ต้องรักษาความลับทางราชการ เป็นต้น
รวมทั้งไม่กระทำการอันใดอันเป็นข้อห้าม เช่น ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ต้องไม่กระทำการอย่างใดอันเป็นที่เป็นการกลั่นแกล้ง ต้องไม่กระทำการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ต้องไม่ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหงประชาชนผู้ติดต่อราชการ เป็นต้น
ทั้งนี้แม้จะมีระเบียบวินัยรองรับอยู่ แต่ข้าราชการของไทยกยังมีการกระทำที่ฝ่าฝืนอยู่อย่างมากมาย โดยไม่ได้กลัวที่จะถูกลงโทษเลย เป็นเพราะว่ามีพรรคพวกช่วยเหลือกันให้พ้นผิด โดยเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่ เพราะมีอิทธิพลในวงข้าราชการ อย่างเช่น ปลัดกระทรวงหนึ่งถูกร้องเรียนเรื่องชู้สาวกับผู้บังคับบัญชา สอบไปสอบมากลับไปรับตำแหน่งเดิม จึงเห็นควรให้มีการใช้องค์กรอิสระในการสอบวินัยผู้กระทำผิด เพื่อความเป็นกลางและน่าเชื่อถือและมีการลงโทษอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ระบบข้าราชการมีความโปร่งใส ทุกวันนี้มีเรื่องร้องเรียนข้าราชการเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องเงียบหายไป ทำให้ประชาชนขาดที่พึ่ง ขาดความเชื่อถือระบบข้าราชการ แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าคงแก้ไขได้ยากเพราะมันฝังรากลึกมานาน

ข้อ 2 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนฯ 10)
สนใจเลือกวิเคราะห์ยุธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
วัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาก็เพื่อสร้างศักยภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อการพึ่งพาตนเองและพึ่งพาซึ่งกันและกันในท้องถิ่น พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพชีวิต เป็นต้น มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชน
การที่จะดำเนินการตามแผนได้ต้องใช้ความร่วมมือกันของหลายๆหน่วยงาน รวมทั้งรัฐบาลต้องมีความจริงใจและมีงบประมาณส่งให้เหมาะสม และกระทำตามแผนที่วางไว้อย่างจริงจัง ปัจจุบันยังมีการกระทำของกระทรวงต่างๆไปคนละทิศทาง ไม่สอดคล้องประสานกัน รวมทั้งดำเนินการแบบหาเสียงและหวังผลด้านค่าคอมมิสชั่น จึงทำให้ได้ของที่คุณภาพไม่ดี
สรุปก็คือแผนที่วางไว้โดยหลักการนั้นมีการวางไว้ดี แต่มิได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้าตามที่หวังไว้ ต้องรอให้การเมืองของประเทศไทยเข้มแข็งกว่านี้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ข้อ 3 รัฐธรรมนูญ ปี 2550
สนใจเลือกวิเคราะห์สิทธิเสรีภาพในการศึกษา ตามมาตรา 49 และมาตรา 50
ในด้านการศึกษาของไทยก็ถือว่าอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ ในเรื่องการศึกษาในภาคบังคับ แต่เท่าที่พบในชนบทที่ห่างไกล ได้รับความสนใจจากรัฐน้อย ขาดงบประมาณ ขาดครูผู้สอน อาคารเรียนทรุดโทรม ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน ปล่อยให้ครูช่วยเหลือตัวเองไปตามยถากรรม ทำให้คุณภาพการสอนไม่ดีเท่าที่ควร
นโยบายปฏิรูปการศึกษาของไทยก็ขาดความแน่นอน ทำให้เกิดความสับสน ไม่มีมาตราฐานชัดเจน มีการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ เน้นคุณธรรมนำความรู้ ( ก่อนหน้าความรู้คู่คุณธรรม )
บุคคลากรทางการศึกษาได้รับค่าตอบแทนไม่ทัดเทียมกัน ทำให้ครูที่ไปสอนตามชนบทหายาก และตัวครูเองต้องหาทางทำผลงาน เพื่อเพิ่มเงินเดือนค่าครองชีพของตัวเอง ทำให้การสอนไม่สมบูรณ์ นักเรียนได้รับความรู้ความสนใจน้อย ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งระบบ เพื่อที่ระบบการศึกษาของไทยจะได้ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ผู้ส่ง : นางสาวธัญมน สินชัยกิจ นิสิตปริญญาโท สาขาการวางผังเมือง รหัส 507 41168 25

prasong กล่าวว่า...

ประสงค์ จารุรัตนพงศ์ 5074127725


พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551

จากการที่ได้ศึกษา พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ซึ่งเป็นระเบียบที่ข้าราชการไทยจะต้องยึดถือปฏิบัติ และจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2551 ระบบข้าราชการไทยเป็นระบบที่สร้างความมั่นคงในการปกครองที่มุ่งการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อขจัดอำนาจอิทธิพลของขุนนางเดิม โดยมีระเบียบของข้าราชการเพื่อให้มีระบบระเบียบเดียวกันของข้าราชการทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านภาพลักษณ์ของระบบราชการไทย ยังเป็นภาพลักษณ์ที่ประชาชนยังให้ความรู้สึกในแง่ลบ ที่ผ่านมาอาจจะเป็นมาจากระบบที่ขาดประสิทธิภาพ และตัวข้าราชการที่อาจได้รับการตรวจสอบและพัฒนาบุคลากรได้ไม่เต็มที่ ส่งผลถึงการพัฒนาประเทศที่ยังไม่รุดหน้าเท่าที่ควร

จากปัญหาการดำเนินงานที่ขาดประสิทธิภาพ ที่ผ่านมารัฐบาลในยุคต่างๆ จึงได้มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบราชการ ล่าสุดได้มีการตรา พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับปี พ.ศ. 2551 ซึ่ง พรบ.ฉบับนี้ ได้ปรับเปลี่ยนระบบราชการที่ผ่านมาอย่างมากมาย มีลักษณะที่แตกต่างกัน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนขั้นระดับและตำแหน่ง รวมทั้งการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และสิ่งที่หากดำเนินการได้แล้วจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบราชการไทย คือ ให้มีการนำระบบการประเมินสมรรถนะมาใช้ในการบริหารและพัฒนาบุคคล โดยใช้ผลงานในการเลื่อนขั้น และเพิ่มอัตราเงินเดือน

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบราชการในปัจจุบัน จะมีลักษณะให้มีความสามารถในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น โดยมีโครงสร้างคล้ายระบบการบริหารงานของเอกชน อีกทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคล ทำให้เงินภาษีที่ประชาชนเป็นผู้มอบให้ใช้เป็นเงินเดือนถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า และตอบสนองมาในรูปการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน ส่งผลถึงภาพการพัฒนาของประเทศในอนาคต

======================
แผนพัฒฯ10

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นสิ่งที่ควรจะกำหนดออกมาเป็นแผน สำหรับเป็นกรอบในการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นองค์รวมของหน่วนงานต่างๆ สำหรับประเทศไทย มีแผนการดังกล่าว ซี่งอยู่ในชื่อ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปัจจุบันเป็นแผนฉบับที่ 10 ในแต่ละแผนจะมีลักษณะเฉพาะของตัวแผน โดยในแผนที่สิบนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ

ประการที่ 1 พัฒนาคนให้มีคุณภาพพร้อมคุณธรรม และรอบรู้อย่างเท่าทัน มีสุขภาวะที่ดี
อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี
ภายใต้ดุลยภาพความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและด้านสิ่งแวดล้อม
ประการที่ 2 เสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม
มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้
มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงจากความผันผวนของสภาพแวดล้อมในยุคโลกาภิวัฒน์
บนพื้นฐานการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพมีระดับการอมที่พอเพียง
มีการปรับโครงสร้างการผลิตและบริหารบนฐาน ความรู้และนวัตกรรม
ใช้จุดแข็งของความหลากหลายทางชีวภาพและเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ควบคู่กับการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ
และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ พลังงาน กฎกติกา
และกลไกสนับสนุนการแข่งขันและกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ประการที่ 3 ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ
และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นธรรม และมีการสร้างสรรค์คุณค่า
สนับสนุนให้ชุมชนมีองค์ความรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อคุ้มครองฐานทรัพยากร
คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมบทบาทของชุมชนในกรบริหารจัดการทรัพยากร
ปรับแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของชาติจากข้อตกลงตามพันธกรณีระหว่างประทศ
ประการสุดท้าย
พัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มุ่งสร้างกลไกและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่ทุกภาคี
ควบคู่กับการเสริมสร้างความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม
รับผิดชอบต่อสาธารณะมีการกระจายอำนาจและกระบวนการที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
สู่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคมและการใช้ทรัพยากร

แต่ทว่าการสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน เพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยฐานความรู้ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค และนโยบายสังคมเชิงรุก เมื่อวิเคราะห์หลักการและเนื้อหาแล้ว หัวใจสำคัญของหลักการนี้คือ เปิดการค้าเสรีเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและภูมิภาค โดยนำฐานการผลิตและฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศนั่นเอง เพราะฉะนั้นการสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน เช่น ผลิตภัณฑ์ OTOP ก็เพื่อนำไปสู่การส่งออกเป็นทิศทางเดียว ซึ่งก็ยังมีสิ่งที่ขัดแย้งกับปรัชญาดังกล่าวอยู่ ที่ยังมีการพึ่งพากับเศรษฐกิจภายนอก แสดงถึงเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน แท้จริงอาจจะต้องมีภาวะที่จะต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ ที่ประเทศไทยยังจะต้องพัฒนาให้พ้นจากภาวะดั่งกล่าว ให้สามารถพี่งตนเองได้


=============================
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

รัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพสังคมในยุคนั้นๆ สำหรับรัฐธรรมนูญที่มีการพัฒนาและประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้ประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนมากที่สุด จนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับสมญานามว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังมีการเปิดช่องให้นักการเมืองไว้ใช้หาผลประโยชน์สร้างฐานอำนาจให้กับตัวเอง จนเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง และเป็นผลไปสู่เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวทิ้ง จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับเก่าแล้ว มีความพยายามในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายการเมือง และจากผู้ได้รับการสรรหามา อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมีขอบเขต เพิ่มมาตรการการตรวจสอบของทั้งสภาและภาคประชาชน ไม่ให้มีการเกิดเผด็จการรัฐสภาและการสืบทอดอำนาจอีกต่อไป อีกทั้งบทลงโทษที่หนักขึ้นให้เข็ดหลาบต่อความผิด รวมทั้งการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนในการวิภาควิจารณ์รัฐบาล ไม่ให้รัฐบาลไปครอบงำสื่อมวลชนได้อีก

จากรัฐธรรมนูญในฉบับนี้ จึงทำให้เห็นภาพในการป้องกันการทุจริตในเชิงนโยบาย ที่สร้างปัญหาให้เกิดกลุ่มอิทธิพลการเมืองและเศรษฐกิจหมดไป แต่ในครรลองประชาธิปไตยแล้ว ควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และผลประโยชน์อยู่กับประชาชนด้วย ถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่เป็นเพียงเพื่อผลประโยชน์ของใครเพียงเท่านั้น

ประสงค์ จารุรัตนพงศ์ 5074127725

Pongpol กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551นี้ นับเป็นการปฏิรูประบบข้าราชการครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากซึ่งจากข้อมูลของสำนักงาน ก.พ.พบว่าจะครอบคลุมถึงข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการพลเรือนในพระองค์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 400,000 คน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้ยึดหลักบริหารคนที่ผลงาน ความสามารถ และสมรรถนะ และการสร้างความมั่นคงในอาชีพข้าราชการ

สำหรับประเด็นที่ผมสนใจตามพระราชบัญญัติฯ ฉบับใหม่นี้คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. ซึ่งถือได้ว่าเป็นความหวังของข้าราชการที่จะช่วยดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการ พร้อมทั้งป้องกันข้าราชการไม่ให้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งประเด็นของ ก.พ.ค. นี้ถือได้ว่าเป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการยกเลิกระบบ “ซี” ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาการยึดติดกับ “ซี” ของข้าราชการ อีกทั้งความก้าวหน้าของข้าราชการจะไม่ถูกกำหนดด้วยตัวเลขหรือ “ซี” แต่จะขึ้นอยู่กับผลงานและสมรรถนะอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังสามารถกำหนดอัตราเงินเดือนของตำแหน่งแต่ละประเภท และแต่ละระดับให้ต่างกันได้อีกด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมมิเช่นนั้นอาจเป็นช่องทางในการปูนบำเน็จหรือเป็นการเสริมอำนาจให้แก่ข้าราชการอย่างไม่เหมาสมก็เป็นได้

ทั้งนี้ หากถามว่าประชาชนจะได้อะไรจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้ชี้แจงไว้ว่า “ระบบและกลไกการบริหารทรัพยากรบุคคลที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ จะสนับสนุนส่งเสริมและผลักดันให้ข้าราชการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ สร้างและรักษาคนที่มีคุณภาพไว้ในงานที่เหมาะสมกับทักษะความรู้ความสามารถและสมรรถนะ เมื่อราชการได้คนดีคนเก่งมาทำงานบริการประชาชน ก็จะทำให้ยกระดับการทำงานเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่าง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น” ซึ่งโดยรวมแล้วผมค่อนข้างเห็นด้วยในหลักการของการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551ฉบับใหม่นี้ ซึ่งอย่างน้อยถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการพัฒนาที่พอมองเห็นแนวทางได้ แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวผมคิดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาในการตั้งสติและจัดระบบต่างๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยสักพักใหญ่ๆทีเดียว


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยนั้น ก่อกำเนิดมาจากคณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกได้เสนอแนะให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ดังนั้นในปี พ.ศ.2502จึงได้มีการจัดตั้ง"สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ"ขึ้น และได้กำเนิด แผนพัฒนาการเศรษฐกิจฉบับแรกของไทยขึ้นในปี 2504 ซึ่งเป็นการมองภาพการพัฒนาประเทศไปจนถึงปี 2509 การก่อกำเนิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจนี้อาจสืบเนื่องมาจาก ในขณะนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้จ่ายในพัฒนาการเศรษฐกิจประมาณ 3,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีแผนการใช้เงินอย่างชัดเจน และหลังจากนั้นได้นำการวางแผนพัฒนาสังคมเข้ามาใช้ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจด้วยแล้วเรียกชื่อใหม่ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยตลอดระยะเวลา 47 ปีนับตั้งแต่ได้มีการทำแผนฯแรก ประเทศไทยก็ยึดถือการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นจารีตในการวางแผนการพัฒนาของประเทศไทยเรื่อยมา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการพัฒนาในแต่ละแผนนั้นก็แตกต่างกันตามช่วงระยะเวลาและการให้ความสำคัญจากผู้นำประเทศแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ หากพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เป็นการวางแผนพัฒนาโดยเน้นด้านการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและแสวงหาประโยชน์อย่างรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแผนฯ 10 นี้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้ว่า “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืนอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี” นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่ปี 2550 นี้ประเทศไทยจะต้องมุ่งพัฒนาให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวและควรจะต้องเห็นเป็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2554 แต่ทั้งนี้โดยความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้านั้น การกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนานั้นไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่นั้น จำเป็นต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ว่าเราจะเดินหน้าไปในทิศทางใด ดังนั้นการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศนั้นประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ควรจะรับทราบและเข้าใจแนวทางการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารและข้าราชการผู้เกี่ยวข้องควรจะต้องรับทราบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 นั้นประเทศจะตั้งเข็มทิศในการพัฒนาให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และจะมุ่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2554 แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าไล่เรียงผู้บริหารนับตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี จนถึงปลัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งได้ผ่านมาแล้วถึง 2 รัฐบาลนั้น จะมีผู้บริหารกี่ท่านที่รับทราบ เข้าใจ และยึดถือแนวการบริหารงานตาม วิสัยทัศน์ประเทศที่ตั้งไว้ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดขึ้นในกรอบของวิสัยทัศน์ โดยอาจแยกเป็นภารกิจของหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัตินั้นอาจแกว่งและไม่เป็นไปในทางเดียวกัน

ในการนี้อาจกล่าวสรุปได้ว่า หากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินี้ เป็นเพียงแผนการพัฒนาที่ถูกจัดทำขึ้นตามจารีตประเพณี โดยผู้บริหารระดับสูงมิได้ยึดเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศแล้วนั้น อาจต้องมองย้อนกลับมาถึงวิถีทางในการพัฒนาประเทศว่าเหตุใดประเทศจึงไม่มีการพัฒนาตามแผนงานที่กำหนดไว้ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนา และเป็นประเด็นปัญหาขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่ข้าพเจ้าคิดว่าควรจะต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างจริงจังเสียที


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

สำหรับความคิดเห็น ความรู้สึก และประเด็นที่น่าสนใจที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คงจะไม่ขอกล่าวถึงที่มาหรือบทบัญญัติในมาตราต่างๆว่า มีข้อดี ข้อเสีย หรือวัตถุประสงค์ในการร่างขึ้นแต่อย่างใด แต่จะขอกล่าวถึงความรู้สึกทั่วๆไป ที่มีต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นประชาชนหนึ่งคนที่อยู่ภายใต้กฎกติกานั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือน กฎ กติกาสูงสุด หรือ Rule of the game ของชาติที่ประชาชนชาวไทยต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งประการสำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ถือว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการปกครองของประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปีพุทธศักราช 2475 จวบจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 76 ปีนั้น ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสใช้กฎกติกา สูงสุดของประเทศหรือรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 18 ฉบับ ซึ่งมีทั้งเป็นการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ ปรับปรุงแก้ไขของเดิม หรือแม้กระทั้งล้มกระดานแล้วใช้กติกาเดิมอีกครั้ง ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วกติกาสูงสุดของประเทศจะมีการปรับเปลี่ยนในทุก 4 ปี กับอีก 2 เดือนกว่าๆ ซึ่งเกือบเท่าอายุ 4 ปีของรัฐบาลหนึ่งสมัย และแน่นอนหากพิจารณาถึงจำนวนกฎกติกาในการปฏิบัติ หรือข้อห้าม ข้อบังคับที่ได้มีการปรับเปลี่ยนยิ่งมากเท่าใด นั่นย่อมสะท้อนออกมาได้เป็นสองแง่มุมคือ ในแง่บวกผู้ที่จะอยู่ภายใต้กฎกติกานั้นมีกรอบแนวทางในการใช้ชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และในอีกแง่มุมหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่ภายใต้กฎ กติกานั้นมีแนวโน้มว่าจะมีการปฏิบัติที่อาศัยช่องว่างแห่ง กฎเกณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องมีการตั้งกฎกติกาขึ้นใหม่ หรือ อาจเป็นเพราะกฎ กติกานั้นไม่เป็นที่พอใจต่อชนชาวไทยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอำนาจในการแก้ไข ปรับปรุง กฎ กติกานั้นก็ได้

หากมองในภาพรวมแล้ว การที่เราประกาศต้องบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ขึ้นมาอีก อาจเป็นเพราะตั้งแต่ปฏิรูปการปกครองมาชาวไทยยังคงแสวงหา กฎ กติกา ที่เหมาะสมในการจัดระเบียบการปกครองประชาชนชนที่อยู่ภายใต้ราชอาณาจักรไทยแห่งนี้อยู่ ซึ่งทั้งผู้เล่นและผู้ออกกฎก็ล้วนแต่เป็นประชาชนชาวไทยทั้งนั้น แต่กฎกติกาที่เราสร้างขึ้นมานั้น มีพื้นฐานหรือได้รับอิทธิพลมาจากกฎกติกาของประชาชนในทวีปยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นกฎสำหรับผู้เล่นคนละประเภท เปรียบเสมือนการนำเอาเสื้อสูทผูกเนคไทค์มาใส่พายเรือในคลอง แน่นอนผู้พายอาจจะรู้สึกว่าดูดีแต่คงเป็นเรื่องธรรมดาที่ซักวันอาจรู้สึกอึดอัด และค่อยๆทำการเพิ่มหรือลดชุดแต่งกายเพื่อให้รู้สึกว่าจะสามารถพายเรือลำนี้ได้อย่างสบายขึ้นๆ ซึ่งหากเมื่อใดที่เรายอมรับว่าการแต่งกายเช่นนี้อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับประชาชนชาวไทยแล้วสลัดชุดนั้นทิ้งแล้วสั่งตัดชุดขึ้นมาใหม่โดยนำมาใส่อย่างภาคภูมิใจอาจจะใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการทนฝืนตัดต่อชุดสูทชุดเดิมตัวนั้นอยู่และอาจทำให้สามารถพายเรือลำนี้ไปไกลกว่าเดิมก็เป็นได้

นายปองพล ทองสมจิตร
รหัส 507 44045 25

Unknown กล่าวว่า...

นาย อรรฆพล ห่อมณี 5074166125 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง
.
.
1. พรบ. ข้าราชการพลเรือน 51
พรบ. ข้าราชการพลเรือนมีสาระสำคัญดังนี้
- การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ โดยการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับส่วนราชการและจังหวัดดำเนินการ เช่น การกำหนดตำแหน่งและการสรรหา โดย ก.พ. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์กลาง
- การปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดตำแหน่งและปรับปรุงค่าตอบแทน โดยยกเลิกระดับมาตรฐานกลางที่เดิมแบ่งออกเป็น 11 ระดับ (Common Level) และใช้บัญชีเงินเดือนเดียวกันทั้ง 11 ระดับ โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบ Multi Classification Scheme ที่จำแนกประเภทตำแหน่งออกเป็น 4 ประเภทและในแต่ละประเภทมีบัญชีเงินเดือนแยกออกจากกัน
- การบริหารโดยยึดหลักความรู้ความสามารถ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารทรัพยากรบุคคลทุกขั้นตอนจะดำเนินการโดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถเป็นสำคัญ ทั้งกระบวนการสรรหา การบรรจุแต่งตั้ง การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงในการปฏิบัติราชการ การกำหนดตำแหน่ง และอื่นๆ
- การวางมาตรการพิทักษ์คุณธรรม โดยแยกบทบาทภารกิจหน้าที่ด้านการพิจารณาดำเนินการทางวินัยและลงโทษข้าราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ออกจากกันโดยเด็ดขาด และกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม หรือ ก.พ.ค. เป็นองค์กรที่มีอำนาจอิสระไม่อยู่ในการกำกับของฝ่ายบริหาร เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ คำร้องทุกข์และร้องเรียน เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลในการบริหารรองรับกับการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรบุคคล
- การปรับปรุงระบบจรรยาและวินัยข้าราชการ โดยแยกเรื่องจรรยาบรรณกับเรื่องทางวินัยออกจากกัน โดยเน้นให้เรื่องจรรยาข้าราชการเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการ ได้แก่ การยืนหยัดยึดมั่นทำในสิ่งที่ถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยการปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าวจะถูกนำมาประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน แต่งตั้ง และพัฒนา
2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้กล่าวถึงยุทธ์ศาสตร์ในการพัฒนาประเทศโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในด้านต่างๆ ดังนี้
-ปลูกฝังคุณธรรมควบคู่กับความรู้ทางวิชาการ โดยเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน
-เสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาพใจและกายที่แข็งแรง และอาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่น่าอยู่ เป็นการพัฒนาด้านสุขลักษณะอย่างครบวงจรมุ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
-มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคมบนฐานของความมีเหตุมีผล เพื่อให้คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ซึ่งการพัฒนาคนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” นั่นเอง
3. รัฐธรรมนูญ 50
จากการศึกษารัฐธรรมนูญปี 50 ข้าพเจ้ามีความสนใจในประเด็นเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ดังนี้
รัฐธรรมนูญปี 50 นี้ มีการเพิ่มสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชนมากขึ้นกว่าที่รัฐธรรมนูญ 40 ดังเช่น
- การเพิ่มในมาตรา 28 ในเรื่องการใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในเรื่องสิทธิและเสรีภาพได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
- เพิ่มสิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ตามที่กฎหมายบัญญัติ ในมาตรา 35
- เพิ่มและเขียนเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจนขึ้น ในมาตรา 40
- เพิ่มเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ทั้งการห้ามแทรกแซง ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม การห้ามไม่ให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำระหว่างสื่อด้วยกันเอง
- เพิ่มคำว่า คนพิการหรือทุพพลภาพ และผู้ยากไร้ ในหลายมาตรา
-เพิ่มรายละเอียดในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านต่างๆ
แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดผลในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด เพราะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากกว่ารัฐธรรมนูญใดๆ ที่เคยมีมาในสมัยนั้น แต่ก็มีผลบังคับใช้น้อยมาก โดยเฉพาะการโดนภาครัฐเพิกเฉยเสียเอง

uthai กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมพ.ศ.2545
เดิมทีระบบโครงสร้างการบริหารของรัฐมีอยู่ 14 กระทรวง 1 ทบวง 125 กรม หลังจากที่ได้ปรับปรุง โครงสร้างใหม่จึงมีกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงเกิดขึ้นใหม่ รวม 20 กระทรวง ซึ่งในแต่ละกระทรวงก็จะมีส่วนราชการต่างๆที่อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงนั้นๆทำหน้าที่บริหารจัดการ เช่น มาตรา 30 กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย
มาตรา 31 กระทรวงมหาดไทยมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้ มาตรา 31(7) กรมโยธาธิการและผังเมือง มีภารกิจเกี่ยวกับงานด้านการผังเมืองระดับต่างๆ การโยธาธิการ การออกแบบการก่อสร้างและการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ดำเนินการและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการพัฒนาเมืองพื้นที่ และชนบท โดยการกำหนดและกำกับดูแลนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบการตั้งถิ่นฐานและโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานการก่อสร้างด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการผังเมือง เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เกิดมาตรฐานความปลอดภัยแห่งสาธารณชนความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองและสิ่งปลูกสร้างตามระบบการผังเมืองที่ดี อันจะนำไปสู่การพัฒนา อย่าง ยั่งยืน
ในประเด็น มาตรา 31(7) กรมโยธาธิการและผังเมือง ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 จากการรวมกรมโยธาธิการและกรมการผังเมือง เข้าด้วยกันซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูประบบราชการ ตามนโยบายรัฐบาล ฯพณฯ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยบูรณาการ งานที่เกี่ยวเนื่องกันของทั้งสองกรมเข้าด้วยกัน และมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเมืองที่สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของการผังเมืองอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งในประเด็นนี้ถ้าพิจารณาดูตามหลักการแล้วก็เหมือนจะดี แต่กลับมีปัญหาการในเรื่องตำแหน่งหน้าที่และการบริหารงานภายในองค์กร เช่นการบริหารงานไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค(บางพื้นที่) ถ้าผู้บริหารที่มาจากสายงานโยธาเดิม ก็จะให้ความสำคัญกับงานโยธามากกว่างานผังเมือง และยังมีเหตุการณ์เกิดความขัดแย้งทางตำแหน่งหน้าที่ทั้งงานบริหารและงานปฎิบัติ รวมไปถึงการปฎิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ยุติธรรมแบ่งเป็นพรรคเป็นพวก และในทางกลับกันถ้าผู้บริหารมาจากงานผังเมืองก็มีจะอาการคล้ายๆกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวในส่วนภูมิภาค(บางพื้นที่)ยังมีการปฎิบัติงานเข้ากันไม่ได้ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูประบบราชการมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเมืองที่สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของการผังเมืองอย่างแท้จริง
………………………………………………………………………………………………….
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)
ทิศทางการพัฒนาประเทศ กำหนดขึ้นบนพื้นฐานการเสริมสร้างทุนของประเทศทั้งทุนทางสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” และอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ได้มีการกำหนด นโยบายด้านการศึกษาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาทุกฉบับโดยเฉพาะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ได้มีการกำหนดไว้ในส่วนของยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและการคุ้มครองทางสังคม โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สำคัญคือ การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเป็นการเสริมสร้างฐานรากของสังคมให้เข้มแข็งซึ่งนโยบายการศึกษาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 10 นโยบายการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งการศึกษาถือได้ว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ
ด้วยความสำคัญของประเด็นการศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนักวางแผนพัฒนาเมืองเพราะในทางการศึกษาจะมีประเด็นที่นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่หลากหลาย เช่น เพื่อการพัฒนา เพื่อการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษา และด้วยเหตุผลของความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น การกำหนดนโยบายการศึกษาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จึงไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายเฉพาะแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น เพราะในเรื่องดังกล่าวมีหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้วอาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น
ดังนั้น ในการกำหนดนโยบายการศึกษาดังกล่าวจึงต้องยึดหลักการปฏิบัติให้ประสานสอดคล้องอย่างใกล้ชิดกับความต้องการของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้ง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือช่วย เป็นกรอบ และทิศทางในการพัฒนาประเทศให้แก่กระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการอื่นๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และสภาการศึกษาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องของการจัดการศึกษา การกำหนดหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน เป็นต้น

………………………………………………………………………………………….



รัฐธรรมนูญ 2550
การที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น ทำให้ต้องมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน และในบรรดากฎกติกาทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมมีกฎสูงสุดที่อยู่เหนือกฎกติกาใดๆ กฎกติกาสูงสุดนี่แหละคือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติเฉพาะกติกาหลักๆ ที่สำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกัน และเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของกฎหมายอื่นทั้งหมด กฎหมายอื่นจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญไม่ดี กฎหมายอื่นๆก็จะไม่ดีไปด้วย และหากรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเราไว้อย่างดี เราก็จะสามารถอ้างรัฐธรรมนูญขึ้นต่อสู้ได้
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดกติกาทางการเมืองซึ่งก็คือ กติกาการใช้อำนาจจัดสรรผลประโยชน์ของพวกเราทุกคน เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดสรรภาษีที่เก็บจากพวกเราทุกคนไปปีละกว่าล้านล้านบาท ซึ่งควรจะต้องจัดสรรกลับคืนมาให้พวกเราในรูปของบริการสาธารณะต่างๆ เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ โรงเรียน โรงพยาบาล การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย เงินอุดหนุน อบต. เทศบาล อบจ. ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีเนื้อหา 15 หมวด 309 มาตรา โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค 2.การมีส่วนร่วมของประชาชน 3.สถาบันการเมือง 4.การสร้างระบบการเมืองที่สุจริต โปร่งใส 5.กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยประเด็นสาระที่กระผมสนใจคือ ความเสมอภาค ในมาตรา 30 ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมฯลฯ และสิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ของมาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น
กล่าวคือ มีคำถามว่าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมีผลกระทบต่อเมืองอย่างไร ซึ่งเป็นการศึกษาค่านิยมที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งกระผมคิดว่าค่านิยมไม่ผิดแต่พฤติกรรมต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหาทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ในมาตรา 30 และ49 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในกฎหมายและในการรับการศึกษา แต่ในความเป็นจริงโรงเรียนดังมีชื่อเสียงจะมีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นเป้าหมายของผู้ปกครองนักเรียนเพราะมีลูกศิษย์ลูกหาที่สำเร็จแล้วได้ดิบได้ดี จะเห็นว่าเกิดความเหลื่อมล้ำฐานะทางเศรษฐกิจขึ้น เพราะคนที่มีโอกาสก็คือชนชั้นสูงซึ่งคนชั้นล่างก็มีโอกาสได้เพียงแค่ทางเลือกของรัฐที่จัดหาให้เท่านั้น

ผู้ส่ง : นายอุทัย ชาติเผือก นิสิตปริญญาโท สาขาการวางผังเมือง รหัส 5074171225

saochao กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่นี้ ประเด็นที่รู้สึกสนใจก็คือ ในส่วนของหมวดที่ 3 การสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยเฉพาะในมาตรา 53ที่กล่าวว่า “การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งนั้น โดยบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้” แต่กลับมีข้อกำหนดในมาตรา 55 ขึ้นมาว่า “ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 อาจคัดเลือกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยไม่ต้องดำเนินการสอบแข่งขันตามมาตรา 53 ก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด”

ซึ่งจากประสบการณ์ในการสอบเข้าบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนที่เคยเจอมา พบว่า มาตรา 55 กลายเป็นตัวหลักในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราช ผู้ที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนส่วนใหญ่มาจากเส้นสายเกือบทั้งสิ้น เห็นได้ถึงความไม่เป็นธรรมและระบบอุปถัมป์ที่ชัดเจนของสังคมไทย ทำให้คนที่มีความตั้งใจจริงที่จะเข้ามาสอบบรรจุเพื่อมารับใช้ประเทศชาติเกิดความรู้สึกท้อแท้ รู้สึกแย่กับระบบราชการของประเทศมากขึ้น คนที่มีความคิดดีและมุ่งมั่นในการทำงาน อาจล้มเลิกความตั้งใจที่จะเข้ามา และสุดท้าย ระบบราชการจะกลายเป็นระบบแห่งเส้นสายและการคอรัปชั่นอย่างสมบูรณ์

...................................

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่10 เป็นการมุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ต่อเนื่องมาจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่8 โดยจะมุ่งไปที่การทำให้ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ภายใต้แนวปฏิบัติของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

สิ่งที่น่าสนใจในแผนนี้ก็คือ เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การตีความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของคนไทยบางคนเข้าใจว่า พอเพียง คือมีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น ไม่มีการดิ้นรนพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าในชีวิต ในขณะที่บางคน(จากประสบการณ์จริงที่เคยเจอ) ก็มุ่งเน้นแต่จะทำตามสูตรเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้มีการทำไร่ นา สวนผสมในพื้นที่เดียวกัน แต่วิธีการคือ ต้องไปกู้เงินมาเพื่อซื้อที่ดินมาทำ แล้วก็ติดป้ายว่า เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ

ในช่วงแรกที่มีทฤษฎีเรื่องความพอเพียงนั้น การตีความของคนจะเป็นไปในแนวทางการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การทำธุรกิจก็มีความพอเพียงได้ ประเด็นหลักของทฤษฎีเรื่องความพอเพียง ก็คือการที่สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งเราสามารถนำไปใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ ไม่ใช่เพียงแค่ด้านการเกษตรเท่านั้น ยิ่งในทุกวันนี้ การพัฒนาประเทศให้สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งของระบบและโครงสร้างต่างๆภายในประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้มาขึ้น ซึ่งอาจใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญต่อการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพและความได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นทุนด้านสังคม เศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน

...................................

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550เป็นกฎหมายสูงสุด ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
คมช.) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากฉบับปี 2540 อยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การถอดรื้อโครงสร้าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ อำนาจตุลาการ การเงินการคลังงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือ คือบทบัญญัติเรื่อง
- สิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐต้องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกชนชั้นและให้สิทธิประชาชนได้รับหลักประกันและสวัสดิภาพในการทำงาน
- สิทธิชุมชน ชุมชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่นของตน หรือการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือทรัพยากรธรรมชาติ
- การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ง่ายขึ้น ประชาชนมีโอกาสยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่จะทำหรือไม่ก็ได้ โดยในฉบับนี้จะเพิ่มเนื้อหามุ่งกระจายความเป็นธรรมในสังคม และปกป้องทรัพย์สินของชาติ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร การปฏิรูปที่ดิน จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง คุ้มครองสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ให้เกิดการผูกขาด เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแสดงถึงความเท่าเทียมกันในสังคม

แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ค่อยจะชอบธรรมนัก แม้ว่าข้อบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงแก้ไข และเพิ่มเติมขึ้นมาบางข้อจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่ก็ยังคงเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากกลุ่มผู้ปฎิวัติ ข้อบัญญัติต่างๆที่แก้ไขไป ก็มาจากการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่รัฐบาลชุดเดิมได้ทำมา ข้อกฏหมายบางข้อที่แอบแฝงอยู่ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม ไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง

เสาร์เช้า ช้างกลาง
5074165525

Chayanee กล่าวว่า...

กฎหมายที่สนใจจาก กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งเป็นกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบราชการของไทย โดยที่ระบบราชการนั้นเป็นกลไก สำคัญของประเทศในการที่จะผลักดันให้แนวทางการบริหารประเทศตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐเกิดผลสำเร็จเป็นประโยชน์ แก่ ประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม ทำให้ระบบราชการต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของสังคม

จากการอ่านกฎหมายฉบับนี้ของดิฉัน พบว่า ที่ผ่านมามีการปรับปรุงกฏหมายฉบับนี้แล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังคงมีการปฏิบัติราชการตามโครงสร้างการบริหารที่ไม่แตกต่างจากรูปแบบเดิมซึ่งเป็นผลให้การทำงานของข้าราชการเป็นไปด้วยความล่าช้าเพราะมีขั้นตอนการปฏิบัติ งานค่อนข้างมาก และส่วนราชการต่าง ๆ มิได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันและจัดกลไกการปฏิบัติงาน ให้มีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นผลทำให้การปฏิบัติงานเกิดความซ้ำซ้อนและกระทบต่อการให้บริการ แก่ประชาชน จึงทำให้การปรับปรุงครั้งล่าสุดนี้มีการจัดส่วนราชการใหม่ มีการยุบบางหน่วยงาน เพิ่มกระทรวงใหม่ เพื่อให้การทำงานของส่วนราชการที่มีความเกี่ยวข้องกันสามารถทำงานด้วยกันได้อย่างสะดวก และ เกิดประสิทธิภาพ

ในฐานะนักวางแผนระบบราชการถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนทำให้แผนประสบความสำเร็จ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ดิฉันสนใจคือ การทำงานของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยที่ในการวางแผนจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ แต่ในบางครั้งดิฉันรู้สึกว่ากรมโยธาธิการและผังเมือง ในบางครั้งไม่มีอำนาจหน้าที่พอที่จะกำกับหน่วยงาน หรือ ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอำนาจหน้าที่อยู่คนละส่วนกัน กรมไม่ได้มีอำนาจเหนือหน่วยงานอื่นๆ หรือ หน่วยงานภายในท้องถิ่น ทำให้การวางแผนพัฒนาหลายๆครั้งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

-----------------------------------
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

ประเด็นที่ดิฉันสนใจจากแผนฉบับนี้ คือ ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับ
1.การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการบนฐานความรู้และความเป็นไทย โดยปรับโครงสร้างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่ใช้กระบวนการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเครือข่ายชุมชนบนรากฐานของความรู้สมัยใหม่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างสินค้าที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ
2.การสร้างภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจ โดยการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคงและสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพและสวัสดิการสูงสุดแก่ประเทศการส่งเสริมการออมอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนและเป็นหลักประกันในชีวิตของประชาชน
3.การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเป็นธรรม โดยส่งเสริมการแข่งขันการประกอบธุรกิจในระบบอย่างเสรี เป็นธรรม และป้องกันการผูกขาด กระจายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาคอย่างสมดุลและเป็นธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง

ซึ่งดิฉันคิดว่ายุทธศาสตร์นี้ต้องการให้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่มาตั้งในแผนพัฒนา ฉบับที่ 9 โดยไม่มุ่งเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่วัดจากจีดีพี อีกต่อไป แต่เมื่อมองลึกลงไปในแผนพัฒนาฉบับนี้ แทบจะมองไม่เห็นทิศทางที่จะนำไปสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย เนื่องจากยังเน้นการผลิตสินค้าเพื่อขาย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เน้นให้ชุมชนหรือหมู่บ้านเต็มไปด้วยสินค้า และในส่วนของหน่วยราชการยังไม่ได้มีการดำเนินการตามแนวดังกล่าว เป็นเพียงคำพูดให้ดูสวยหรู ซึ่งเป็นประเด็นให้ดิฉันคิดว่าในการพัฒนาหลักเศรษฐกิจพอเพียงยังสามารถนำมาพัฒนา หรือ จัดการอยู่ได้หรือไม่ ?

-----------------------------------
รัฐธรรมนูญ 2550

ประเด็นที่สนใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในหลายๆ มาตรา ซึ่งได้กล่าวถึง การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ดังเช่น ในมาตราที่ 87 เกี่ยวกับ แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ได้เน้นด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลักทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพหรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลายหรือรูปแบบอื่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง ส่งเสริมและให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตย และ การมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน

ซึ่งดิฉันคิดว่าในการที่จะทำให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง แนวทางในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และ การพัฒนาประเทศต้องพัฒนาคุณภาพของคนในชุมชนให้มีกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่เขียนไว้ อีกทั้งรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศควรปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ไม่ใช่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ตัวอักษรที่เขียนขึ้นมา แต่ไม่สามารถทำได้จริง


ชญาณี จริงจิตร 5074111625

vittawat กล่าวว่า...

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑
สนใจประเด็นในการแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์
ระบบคุณธรรม โดยเห็นว่าคณะกรรมการของ กพ เองก็จะสามารถที่จะดูแลพฤติกรรมของข้าราชการ
ในสังกัด กพ ได้เอง
มากกว่าที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก อีกทั้งยังเห็นว่าระบบคุณธรรมยังเป็นสิ่งที่เห็น
ไม่ชัดเจนว่าคนไหนทำงานอย่างไร น่าจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และโอกาสมากกว่า อีกทั้งลักษณะของหน้าที่การงาน
ก็มีส่วนในสถานการณ์และโอกาสนั้นอีกด้วย นี่จึงเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาซ้ำซ้อนกันมากกว่า
ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของ การกำหนดตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง จากการที่เคยได้เข้าไปฝึกงานในหน่วยราชการ ก็จะเห็นว่าในการปรับตำแหน่ง การใช้ผลงานในการเลื่อนตำแหน่ง ก็จะเห็นได้ว่ามีจุดอ่อนคือ สำนักงาน กพ เป็นผู้กำหนดตำแหน่ง และหน้าที่ของข้าราชการว่ามีหน้าที่อย่างไร แต่ในหน่วยงานจริงข้าราชการเหล่านั้น ก็มักจะถูกผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าใช้งานในด้านอื่น
ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของตน ทำให้ไม่มีผลงานไม่ได้รับโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง
จะเห็นได้ว่าระเบียบบริหารราชการพลเรือนนี้มาจากสมัยที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หลังจากคณะรัฐประหารได้อ้างความชอบธรรมในการรัฐประหารก็คือรัฐบาลชุดที่แล้วมีการทุจริตอย่างมากมาย ทำให้ระเบียบบริการราชการนี้ มีการกล่าวถึงเรื่องระบบคุณธรรม จริยธรรม มากขึ้น ไม่ว่าระบบคุณธรรมหรือจริธรรม จะสามารถชี้วัดบุคคลว่าบุคคลใดมีคุณธรรม หรือจริธรรมได้มากน้อยหรือไม่ก็ตาม

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่แผ่นพัฒนาฉบับที่ 8 เป็นต้นมา เราก็ได้กล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกันมากขึ้น แต่ในด้านการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเองก็ตาม ก็จะเห็นได้ว่า เป็นการวางแผนโดยสภาพัฒฯ ซึ่งก็เป็นการวางแผนจากบนลงล่าง โดยที่ประชาชนเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผน แต่ต้องปฏิบัติตามแผนไม่ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
ตามที่ขณะกระแสโลกาภิวัฒน์และระบบทุนนิยม ยังคงเคลื่อนไหว ประเทศไทยเองก็คงยากที่จะต่อต้านกระแสเหล่านี้ เพราะกระแสเหล่านี้ ก็นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งถ้าเราต้องการอยู่ในสังคมโลกอย่างยืนหยัด เราก็ต้องตามให้ทันกระแสเหล่านี้ โดยที่เราเองก็ต้องสามารถที่จะแข่งขันในระบบนี้ได้ แต่ในแผนเอง ก็ยังมีการวางแผนที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเอง เช่นการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งโดยส่วนตัวข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่ามันมีความสวนทางกับระบบทุนนิยมและกระแสโลกาภิวัฒน์ จึงทำให้ยังไม่เข้าใจว่า ประเทศจะเดินหน้าไปทางไหนกันแน่
จากเรื่องที่แล้วที่กล่าวถึงระเบียบข้าราชการพลเรือนที่กล่าวว่ามีการกล่าวถึงระบบคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นนามธรรม หาตัวชี้วัดยาก ก็จะเห็นได้ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับนี้ ก็มีการกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างมากเช่นกัน เช่นที่กล่าวว่า “ให้เกิดความสมดุลระหว่างมิติทางวัตถุกับจิตใจของคนในชาติ” ก็จะสังเกตว่า แล้วสมดุลของแต่ละบุคคลจะเท่ากันหรือไม่ เพราะในเมื่อแต่ละคนล้วนมีหลากหลายแนวคิด มีอาชีพต่างกัน รายได้ต่างกัน แล้วเราจะสามารถนำเกณฑ์ใดมาวัดความต้องการของคนแต่ละกลุ่มได้

รัฐธรรมนูญ ปี 2550
จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด มาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กล่าวว่าประชาชนเสียงข้างมากรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีการกล่าวถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราจะเห็นว่า สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ยังถูกจำกัดกับสิ่งที่เรียกว่าฐานะ หรือชนชั้น ซึ่งเรายังไม่สามารถจะหาความเสรี หรือความเสมอภาคได้อย่างแท้จริงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ หรือการสนับสนุน ก็จะพบว่าบุคคลที่มีความใกล้ชิด มักจะได้รับความช่วยเหลือก่อน หรือยกกรณี บุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนที่ปรากฎตามสื่อ ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มคนมากมาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว อาจจะมีคนที่เดือดร้อนที่ไม่ปรากฎอยู่ตามสื่อ รอรับความช่วยเหลืออยู่ก็เป็นได้
มากล่าวถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลหรือสื่อมวลชน ก็จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ สื่อมวลชนมักจะชอบใช้การชี้นำประชาชนว่าผู้ใดถูกหรือผิด ทั้งที่ความจริงยังไม่ปรากฎ หรืออาจจะเป็นการเสนอข่าวด้านเดียวที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย
โดยเมื่อคนที่เสียหายตอบโต้ ก็มักจะกล่าวหาว่า ใช้อำนาจปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ
เรื่องการศึกษาที่รัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุนเป็นเวลา 12 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก็จะพบว่า ทางโรงเรียนของรัฐก็จะมีวิธีหลีกเลี่ยง โดยจะเรียกเก็บเงินเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งๆ ที่ตามมาตรา 49 กล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วิทวัส กิ่งสุวรรณ
507 41517 25

Sorasak C. กล่าวว่า...

1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2550

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์และการยอมรับในปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลหลักของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยงแปลงในระบบราชการ คือ สร้างให้ระบบ กลไก การใช้อำนาจรัฐมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สนองตอบต่อปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อผลักดันหรือนำพาประเทศไทยเข้าไปสู่สังคมที่ทำให้คนส่วนใหญ่ สามารถดำรงชีวิตได้ตามสมควรแก่อัตภาพ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขพอเพียง สามารถผลักดันประเทศเข้าไปอยู่ในสังคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี กล่าวโดยสรุปคือ การทำให้สมรรถนะของการบริหารราชการของรัฐบาลแต่ละคณะ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

การขับเคลื่อนประเทศนั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงอีกมาก ทั้งในด้านกลไก และทัศนคติของข้าราชการ ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแก้ไข พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาเป็นลำดับ นับแต่ตั้งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงนั้น ยังคงมีอุปสรรค และมีกลไกที่ยังไม่สอดคล้องกับ แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินในบางส่วน เช่น เรื่องความเร็ว ซึ่งโลกปัจจุบันเป็นโลกของดิจิตอลที่มีความเร็วเป็นวินาที แต่การบริหารราชการแผ่นดินยังไม่เร็ว ไม่ทันยุคทันสมัย สิ่งนี้จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งที่ทำให้ขาดกระบวนการตรวจสอบข้อมูล เรียกดูและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นกระบวนการช่วยในการตัดสินใจ

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับใหม่จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญ ที่จะทำให้กลไกการบริหารราชการมีการผ่อนคลายเพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้สอดคล้องกับทิศทางการนำพาประเทศไปสู่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนฯ 10)

การจัดทำแผนพัฒนาชาติในอดีตมักจะถูกกำหนดโดยฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายปกครองหรือผู้นำ ส่วนข้าราชการเป็นเพียงผู้นำนโยบายไปปฏิบัติเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มีเป้าหมายของแผนที่ต้องการก้าวไปสู่ความมั่งคั่งและความทันสมัย แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เน้นการทำความเข้าใจระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนและสถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากแผนพัฒนาฯฉบับที่ 1-9 ที่การพัฒนาจะอยู่ในรูปโครงการ และเน้นเรื่องการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก

จากการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นตัวนำ และการก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้สถานการณ์ทั้งด้านเศรษฐ กิจและสังคมของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้การวางแผนพัฒนาประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทัน

ทำให้โจทย์ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ มาจากบริบทการเปลี่ยนแปลง 5 ด้าน คือ การเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรีในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีและความรู้ โครง สร้างของประชากรที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยมีเป้าหมายว่าอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมั่งคั่ง ไม่ใช่แค่มีเงินมีทอง แต่จะมีความสมดุลในคุณภาพชีวิต มีทรัพย์สินเป็นปัญญา มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

3. รัฐธรรมนูญ 2550

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2540 อยู่หลายประการ เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ อำนาจตุลาการ การเงินการคลังงบประมาณ

โดยจุดแข็งของรัฐธรรมนูญ 2550 คือบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น รัฐต้องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกชนชั้น ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทุพพลภาพต้องได้รับการศึกษาทัดเทียมบุคคลอื่น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้เพียงพอ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ให้สิทธิประชาชนได้รับหลักประกันและสวัสดิภาพในการทำงาน ให้สิทธิแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐในการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตน ที่สำคัญคือให้มีผลบังคับทันที ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540
หมวดที่ได้รับการบัญญัติขึ้นมาใหม่ เช่น "สิทธิชุมชน" ชุมชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่นของตน หรือการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือทรัพยากรธรรมชาติ หมวด "การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน" ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ง่ายขึ้น ประชาชนมีโอกาสยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รวมถึงการ ให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง หมวด "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่จะทำหรือไม่ก็ได้ เพิ่มเนื้อหามุ่งกระจายความเป็นธรรมในสังคม และปกป้องทรัพย์สินของชาติ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร การปฏิรูปที่ดิน จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง คุ้มครองสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือ หากรัฐบาลจะทำสนธิสัญญาที่มีผลต่อความมั่นคงทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เช่น เอฟทีเอต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

จุดเด่นอื่น ๆ คือ มาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มแข็งขึ้น เช่น ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนคู่สมรสและบุตร ห้ามรับหรือแทรกแซงสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. แสดงบัญชีทรัพย์สิน จากเดิมที่กำหนดเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และได้เพิ่มหมวด "จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ" สร้างกลไกควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นไปโดยสุจริตและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบตรวจสอบโดยรื้อที่มาองค์กรอิสระทั้งหมด ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกระบวนการสรรหาอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต

สรศักดิ์ ชิตชลธาร
5074156925